banner

กระทรวงพลังงานพาสื่อมวลชนท้องถิ่นดูงานศูนย์การศึกษาพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน

สำนักงานพลังงานจังหวัดจันทบุรี ติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังาน และเพิ่มประชากร ปูม้าไข่ ส่งเสริมการทำประมงชายฝั่ง สร้างความอุดมสมบูรณ์ในศูนย์การศึกษาพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน

สำนักงานพลังงานจังหวัดจันทบุรี กระทรวงพลังงาน นำคณะสื่อมวลชนในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ร่วมศึกษาดูงาน โครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ชมศักยภาพพลังงานทดแทนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์และเพิ่มทรัพยากรปูไข่ ในการทำประมงชายฝั่ง สร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนให้ประชาชนในพื้นที่

จังหวัดจันทบุรี-วันนี้ ( 30 มิถุนายน 2560) นางจันทร์ทิพย์ แสนเขียววงศ์ พลังงานจังหวัดจันทบุรี เปิดเผยว่า โครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำหรับธนาคารปูม้าไข่ เป็นโครงการภายใต้โครงการพลังงานชุมชนเพื่อชุมชนจัดการตนเองด้านพลังงาน ปี 2560 (Block grant) งบประมาณโดยกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 840,000 บาท เพื่อดำเนินการสนับสนุนการจัดหาและติดตั้งระบบเติมอากาศในบ่ออนุบาลปูม้าไข่ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 1,500 วัตต์ และอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 4 ระบบ เพื่อการอนุรักษ์และเพิ่มทรัพยากรปูไข่ในการทำประมงชายฝั่ง ในพื้นที่ตำบลท่าใหม่ อำเภอคลองขุด จังหวัดจันทบุรี รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการใช้พลังงานทดแทนในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีความเหมาะสม
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้กว่า 29,500 บาทต่อปี และสามารถเพิ่มสัดส่วนการผลิตและการใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนตามนโยบายของกระทรวงพลังงานได้ไม่น้อยกว่า 0.67 toeต่อปี หรือ คิดเป็น 7,800 หน่วยต่อปี ที่สำคัญยังส่งผลให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการทำประมงชายฝั่งโดยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำในพื้นที่มากยิ่งขึ้น สร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังสร้างสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศที่ดีเนื่องจากสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานไฟฟ้าได้อีกด้วย
“ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และชาวประมงพื้นบ้าน ริเริ่มจัดทำโครงการธนาคารปูไข่เพื่ออนุรักษ์และเพิ่มทรัพยากรปูม้า มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 โดยจะนำปูม้าไข่แก่นอกกระดองที่ชาวประมง จับได้มาแยกไข่ออกจากแม่ปู จากนั้นนำไข่มาฟักและอนุบาลตัวอ่อนก่อนปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ โดยขั้นตอน การดำเนินการดังกล่าวจำเป็นต้องใช้ระบบและอุปกรณ์ที่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าและไฟฟ้า ซึ่งทำให้โครงการมีต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงพอสมควร นอกจากนนี้ บางครั้งยังประสบปัญหาไฟฟ้าตกดับทำให้ลูกปูม้าไข่ที่อนุบาลไว้ขาดออกซิเจนเกิดความเสียหายอย่างมาก ทางสำนักงานพลังงานจังหวัดจันทบุรีเห็นว่า โครงการดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ เพราะใช้พลังงานทดแทนช่วยบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีความเหมาะสม จึงได้ร่วมสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนขึ้นในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อส่งเสริมให้โครงการดังกล่าวสามารถเป็นต้นแบบการทำประมงพื้นบ้านที่มีความยั่งยืน และขยายผลไปสู่กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่อื่นอีกต่อไป” พลังงานจังหวัดจันทบุรี กล่าว