banner

กระทรวงพลังงาน จับมือ กระทรวงวิทย์ ร่วมพัฒนา เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน ขับเคลื่อนนโยบายพลังงาน 4.0 สำหรับประเทศไทย

14 กรกฎาคม 2560 กระทรวงพลังงาน โดย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดสัมมนา “ความพร้อมของประเทศไทยกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน” เพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัย นักวิชาการ ผู้ประกอบการ องค์กรภาครัฐ และเอกชน ได้ทราบถึงทิศทางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมด้านระบบกักเก็บพลังงานในระดับสากล รวมถึงกรณีศึกษาและแนวทางปฏิบัติที่ดีสำหรับประยุกต์ใช้ในประเทศไทย ซึ่งระบบกักเก็บพลังงานเป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยในการเก็บพลังงานไฟฟ้าไว้ใช้ได้นานขึ้น รองรับ Thailand 4.0 ที่จะใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้น โดยได้รับเกียรติจาก พลเอกสุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ “เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานภายใต้การขับเคลื่อนนโยบายพลังงาน 4.0 สำหรับประเทศไทย” พร้อมด้วยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานจากต่างประเทศ

พลเอกสุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า นโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล เป็นโมเดลทางธุรกิจที่เปลี่ยนเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ซึ่ง กระทรวงพลังงาน มีนโยบายในการเตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนนโยบายพลังงาน 4.0 หรือ Energy 4.0 ให้มีความสอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ด้วยการใช้ “การวิจัย พัฒนา เทคโนโลยี และนวัตกรรม” ดังจะเห็นได้จากนวัตกรรมที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน และมีผลกระทบต่อการผลิตและใช้พลังงานของประเทศ เช่น การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า ที่เปลี่ยนการใช้พลังงานน้ำมันเป็นไฟฟ้า หรือการนำพลังงานจากธรรมชาติ เช่น แสงแดด ลม หรือชีวมวลมาใช้ผลิตไฟฟ้าแทนพลังงานน้ำจากเขื่อน ฉะนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการวิจัย พัฒนา เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อรับมือให้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงนี้

“กระทรวงพลังงาน มีเป้าหมายหลักในการขับเคลื่อนนโยบาย Energy 4.0 มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เป็นผู้ดำเนินกการ โดยมุ่งเน้นนวัตกรรมไปที่กรอบแผนงาน 4 ด้าน คือ (1) Firm Renewable Energy หรือพลังงานทดแทน ซึ่งในด้านการผลิตไฟฟ้า มุ่งใช้พลังงานทดแทนที่เป็นพลังงานสะอาด เช่น แสงอาทิตย์ ลม หรือชีวมวล แต่ยังมีข้อจำกัดการใช้งานอยู่บ้าง ดังนั้น ต้องทำให้พลังงานดังกล่าว มีความเสถียร สามารถใช้เป็นพลังงานหลักของประเทศได้ (2) EV (Electric Vehicle) หรือยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยลดมลพิษที่เกิดจากการเผาผลาญน้ำมัน รัฐบาลไทยประกาศสนับสนุนการผลิตและใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มที่ มีการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้สามารถชาร์จไฟฟ้าได้ทั้งจากบ้านเรือนที่พักอาศัย หรือที่ปั๊มชาร์จไฟฟ้า โดยขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการผลักดันให้ภาคเอกชนสร้างปั๊มชาร์จไฟฟ้าให้ได้ 150 หัวจ่าย (3) Smart City – Smart Grid คือการพัฒนาชุมชนหรือเมืองอัจฉริยะ ให้ผลิตและใช้ไฟฟ้าได้เอง ทำให้สามารถบริหารจัดการพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ (4) Energy Storage หรือระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่จัดสัมมนาในวันนี้ เป็นตัวจักรสำคัญ ที่จะทำให้เป้าหมายทั้ง 3 เรื่องข้างต้นสำเร็จ เนื่องจาก energy storage เป็นส่วนประกอบหลักที่จะทำให้เกิดการเก็บพลังงานไฟฟ้าไว้ให้ใช้ได้นาน ทำให้การบริหารจัดการพลังงานทดแทนให้มีความเสถียร (Firm Renewable) ทำให้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV : Electric Vehicle) ใช้งานได้นานขึ้น ปัจจุบันเทคโนโลยี Energy storage มีความหลากหลาย ทั้งเทคโนโลยีเดิมที่มีการใช้มานาน หรือเทคโนโลยีที่กำลังได้รับความสนใจ เช่น แบตเตอรี่ลิเที่ยม รวมถึงเทคโนโลยีอนาคต เช่น supercapacitor แต่การมุ่งสร้างความสามารถของประเทศไทยให้มีความพร้อมทั้งในการผลิต และการประยุกต์ใช้นั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยหลักๆ คือ ราคาต้นทุนเป็นสำคัญ นอกจากนี้การลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทย ต้องคำนึงถึงการมีวัตถุดิบในประเทศ หรือการมี supply chain ที่ครบถ้วน รวมถึงการมีนโยบายและมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ การสัมมนาในวันนี้ ถือเป็นโอกาสดี ที่จะได้สำรวจองค์ความรู้และหารือแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี นโยบาย มาตรการส่งเสริม และทิศทางการลงทุนในอุตสาหกรรม Energy storage เพื่อประเมินความพร้อมและกำหนดบริบทการพัฒนาเทคโนโลยี Energy storage ที่เหมาะสมกับประเทศไทย ทำให้เรารู้ว่า ประเทศไทยควรจะเดินอย่างไร จะเตรียมความพร้อมเรื่อง Energy storage อย่างไร เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย Energy 4.0 เพื่อการพัฒนาให้ประเทศมีความยั่งยืน” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน กล่าว

ด้าน นางเอมอร ชีพสุมล รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า “สืบเนื่องจากคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เล็งเห็นความจำเป็นในการใช้เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ที่มีประสิทธิภาพ สำหรับประยุกต์ใช้ร่วมกับระบบผลิตไฟฟ้าและพลังงานจากแหล่งพลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มเสถียรภาพการผลิตและใช้พลังงานของประเทศ จึงมีมติอนุมัติงบประมาณ 765 ล้านบาท เพื่อนำไปจัดทำโครงการสนับสนุนการศึกษาวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) ภายในระยะเวลา 2 ปี เพื่อสนับสนุนให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกักเก็บพลังงานในด้านต่างๆ โดยนำร่องการใช้งานในด้านความมั่นคงและภัยพิบัติ ด้านอุตสาหกรรม และยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนการสร้างความเข้มแข็งด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อสร้างฐานการพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานให้มีความเข้มแข็งและแข่งขันได้ในระยะยาว ทั้งนี้ได้ร่วมมือและมอบหมายให้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยและพัฒนาเป็นผู้บริหารจัดการโครงการ”

“การดำเนินงานระยะที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 สวทช. เปิดรับข้อเสนอโครงการจัดกระบวนการพิจารณา และเสนอคณะทำงานกำกับงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Steering Committee) อนุมัติการสนับสนุนโครงการแล้ว รวม 32 โครงการ งบประมาณรวม 301,897,000 บาท เป็นงบประมาณจากกองทุนฯ 295,634,000 บาท และงบประมาณร่วมสนับสนุนจากภาคเอกชน 6,263,000 ซึ่งยังมีงบประมาณคงเหลืออีก 400,320,000 ล้านบาท ดังนั้น เพื่อให้ทิศทางและแนวทางในการดำเนินงานมีความสอดคล้องและต่อเนื่องสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล สนพ. ในฐานะเลขานุการกองทุนฯ จึงร่วมมือกับ สวทช. จัดสัมมนาขึ้น เพื่อสำรวจองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี นโยบาย มาตรการส่งเสริม และทิศทางการลงทุนในอุตสาหกรรมด้านระบบกักเก็บพลังงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการวิจัยและพัฒนา การกำหนดนโยบายและมาตรการส่งเสริมด้านระบบกักเก็บพลังงาน สำหรับเป็นกรณีศึกษาและแนวทางปฏิบัติที่ดีสำหรับประยุกต์ใช้ในประเทศไทย”

ภายในงานสัมมนา ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงพลังงาน ประเทศสหรัฐอเมริกา มาบรรยายเรื่อง A review of U.S. market reforms for renewable integration, flexibility, and storage และผู้เชี่ยวชาญจาก DNV GL Clean Technology Center ประเทศสิงคโปร์ มาบรรยายเรื่อง Evolution of Energy Storage Systems Technology: Current and future รวมทั้งการเสวนาหัวข้อ “ความพร้อมของประเทศไทยกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน” โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ผู้แทนจากหน่วยงานดูแลกำกับนโยบาย และผู้แทนจากภาคอุตสาหกรรมในประเทศ มาแลกเปลี่ยนความรู้และอภิปรายร่วมกัน เพื่อหารือถึงบริบทการพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานที่เหมาะสมกับประเทศไทยต่อไป นอกจากนี้ ยังจัดแสดงนิทรรศการโครงการวิจัยที่ได้รับอนุมัติทุนสนับสนุนไปแล้ว เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการสัมมนา ประกอบด้วย ผู้แทนทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา