banner

กระทรวงพลังงาน ร่วมงาน สื่ออยากรู้ รัฐบาลอยากเล่า “มุมมองของรองนายกฯ ประจิน”

วันนี้ (10พค.) กระทรวงพลังงาน นำโดยนายธรรมยศ ศรีช่วย ปลัดกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมกิจกรรม สื่ออยากรู้ รัฐบาลอยากเล่า “มุมมองของรองนายกประจินฯ” ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยเป็นการเชิญสื่อมวลชนร่วมรับฟัง ภาพรวมของบริบทประเทศไทย เชื่อมโยงกับภารกิจภายใต้การกำกับดูแลแต่ละด้านของ พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบกระทรวงสำคัญๆ ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพลังงาน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงยุติธรรม

ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงพลังงานนั้น  ได้มีการนำเสนอประเด็นสำคัญ ๆ 2 ด้านคือ 1.) การเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียมบงกช-เอราวัณ ซึ่งเป็นภารกิจครั้งสำคัญของกระทรวงพลังงาน การดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ ทั้งหมด มีความพร้อมและมีความชัดเจนมากพอที่จะให้ความมั่นใจได้ว่าจะสามารถดำเนินการเปิดประมูลแหล่งเอราวัณและบงกชได้สำเร็จตามแผนที่วางไว้ เพราะว่า ขั้นตอนคัดเลือกผู้เข้าร่วมประมูล ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะมีความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และเงินทุนเพียงพอที่จะทำได้

สำหรับกรอบระยะเวลาเบื้องต้นในการเปิดประมูลฯ  ระหว่างเดือนพ.ค. จะตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นผู้เข้าร่วมประมูลฯ ในเดือนมิ.ย. คาดว่าจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติและเปิดให้มีการยื่นประมูลโดยผู้ยื่นประมูล สามารถเข้าศึกษาข้อมูลพื้นที่แปลงสำรวจ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) และ G2/61 (แหล่งบงกช)  ได้ตั้งแต่ 7 มิ.ย.- 21 ก.ย. 2561 เดือนธ.ค. คาดว่าจะคัดเลือกผู้ชนะการประมูล และคาดว่าในเดือน ก.พ.2562 จะสามารถลงนามสัญญากับผู้ชนะการประมูล  โดยการเปิดประมูลฯ ครั้งนี้ ส่งผลดีกับประเทศชาติ เพราะเพิ่มโอกาส การผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย เกิดความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาว ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในต้นทุนที่เกิดการแข่งขันได้ ไม่กระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เกิดการผลิตก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ป้อนประเทศ  รวมไปถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่เป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันต่างๆ และที่สำคัญสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ

2.) แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ของประเทศฉบับใหม่ ที่จะให้ความสำคัญใน 3 ด้าน คือ 1. ด้านความมั่นคงทางพลังงาน ทั้งระบบผลิตไฟฟ้า ระบบส่งไฟฟ้า และระบบจำหน่ายไฟฟ้า รายพื้นที่ โดยคำนึงถึงอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเพิ่มของประชากร และอัตราการขยายตัว ของเขตเมืองในระดับประเทศและระดับภูมิภาค การกระจายสัดส่วนเชื้อเพลิง และ มีโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงในระดับที่ เหมาะสมมีการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริด เพื่อรองรับการพัฒนาระบบไฟฟ้าขนาดเล็กแบบกระจายศูนย์ ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

2. ด้านเศรษฐกิจ คำนึงถึงต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสม ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำ เพื่อลดภาระผู้ใช้ไฟฟ้า และมีการปรับปรุงการบริหารจัดการต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และ 3. ด้านสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบ ด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายในการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าในปลายแผนไม่เกิน 0.319 kgCO2/kWh ส่งเสริมระบบไฟฟ้าแบบไมโครกริด ในพื้นที่ห่างไกล พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ ส่งเสริมประสิทธิภาพในระบบไฟฟ้าจะสามารถชะลอการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่