banner

ผลกระทบจากน้ำมันและก๊าซหุงต้มปรับขึ้นราคา

ผลกระทบจากน้ำมันและก๊าซหุงต้มปรับขึ้นราคา

สาระสำคัญ : โซเชียลมีเดียและตัวแทนบุคคลจากภาคส่วนต่างๆ ตั้งข้อสังเกตถึงผลกระทบจากน้ำมันและก๊าซหุงต้มปรับขึ้นราคา ในประเด็นดังนี้

1. น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ วิเคราะห์ว่าการปรับขึ้นราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้มอย่างผิดปกติในช่วงเดือน พ.ค. เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มทุนพลังงาน โดยเปิดประเด็น ดังนี้

1.1 ตั้งข้อสังเกตว่าการที่กระทรวงพลังงาน ประกาศไม่ให้แจ้งการปรับลดราคาน้ำมันล่วงหน้า ขณะที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) สั่งให้ทำโครงสร้างราคาน้ำมันเฉพาะราคาขายส่งรวมแวตเท่านั้น ไม่ให้แจ้งราคาขายปลีกซึ่งจะเห็นการบวกค่าการตลาดด้วย สะท้อนถึงเจตนาว่าต้องการจะปิดบังทั้งการปรับลดราคาและการบวกกำไรของราคาขายปลีกน้ำมันจากการรับรู้ของประชาชนทั่วไปใช่หรือไม่

·     กระทรวงพลังงานไม่มีเจตนาปิดบังการรับรู้ของประชาชน แต่มีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมการแข่งขันด้านราคา ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลดีต่อประชาชน  เนื่องจากที่ผ่านมา บริษัทน้ำมันต่างๆ จะมีการตั้งราคาที่เท่ากันและมีการปรับราคาขึ้นลงพร้อมกัน  พอมีการประกาศราคาล่วงหน้า ทุกสถานีบริการก็จะปรับราคาตามกัน ไม่เกิดการแข่งขันด้านราคาโดยตรง แต่เน้นไปแข่งขันทางอ้อมผ่านการโปรโมชั่น เช่น การแจกน้ำดื่มขวด เป็นต้น

·     กระทรวงพลังงานมีวัตถุประสงค์ให้บริษัทน้ำมันมีกลยุทธ์ในการตั้งราคาตามต้นทุนของตนเอง
ซึ่งจะสะท้อนได้จากราคาจำหน่ายปลีกที่แตกต่างกันของแต่ละแบรนด์   ดังนั้น การที่ภาครัฐจะใช้ราคาจำหน่ายปลีกของบริษัทหนึ่งในการจัดทำโครงสร้างราคาก็อาจไม่สอดคล้องกับวัถุประสงค์ที่ต้องการเห็นตลาดน้ำมันของประเทศมีการแข่งขันด้านราคา  คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) จึงเห็นควรให้ยกเลิกการเผยแพร่ราคาขายปลีกและค่าการตลาดในโครงสร้างราคา   ทั้งนี้ ราคาขายปลีกของแต่ละบริษัทน้ำมันก็ยังคงมีการเผยแพร่บนหน้าเว็ปไซต์ของ สนพ. (www.eppo.go.th) ตามปรกติ  ซึ่งก็ทำให้สามารถคำนวณค่าการตลาดได้ดังเดิม

1.2 จากการตรวจสอบพบว่าราคาก๊าชหุงต้มตลาดโลก อยู่ที่ราคาประมาณ 15 บาท/ก.ก. แต่ราคาในประเทศที่มาจากก๊าชอ่าวไทยกลับมีราคาหน้าโรงแยกก๊าชที่ 18 บาท/ก.ก. ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดโลกกว่า 3 บาท/ก.ก. สะท้อนว่ารัฐได้ตั้งราคาจากโรงแยกก๊าชสูงกว่าตลาดโลก และนำกองทุนน้ำมันมาชดเชยให้เพียงกิโลกรัมละ 2.74 บาท ส่งผลให้กองทุนน้ำมันเป็นกองทุนอำพรางกำไรให้แก่โรงแยกก๊าช มากกว่าเป็นกองทุนที่ผู้ใช้เก็บออมเงินไว้เพื่อชดเชยราคาที่ปรับสูงขึ้นตามราคาแข่งขันในตลาดโลก

·     ราคาต้นทุนก๊าซหุงต้มตลาดโลกในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 61 อยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ
16 บาท ซึ่งเมื่อรวมค่าใช้จ่ายในการนำเข้าจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 17.5 บาท มิใช่กิโลกรัมละ 15 บาทแต่อย่างใด

·     ราคา ณ โรงกลั่นของก๊าซหุงต้มในสัปดาห์ที่ผ่านมา (15-21 พ.ค. 61) อยู่ที่กิโลกรัมละ 18.08 บาท ราคาดังกล่าวอ้างอิงจากราคานำเข้า  มิใช่เป็นราคาต้นทุนของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำกว่าและต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (อยู่ที่อัตรากิโลกรัมละ 4.0991 บาทในสัปดาห์ที่ผ่านมา) ซึ่งเงินที่เก็บจากโรงแยกก๊าซฯ ดังกล่าวก็นำมาใช้ในการชดเชยผ่านกองทุนน้ำมันฯ (กิโลกรัมละ 2.7424 บาท) ให้ราคาก๊าซ LPG ในประเทศถูกกว่าราคานำเข้า

1.3 พบข้อมูลจากคนขายก๊าซฝั่งพม่าระบุว่า ก๊าซหุงต้มที่ไทยขายให้ มีราคาอยู่ที่เพียง 23.20 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น ขณะที่คนไทยต้องซื้อในราคาสูงกว่า ทั้งที่ประเทศไทยมีทั้งก๊าซในอ่าวไทย และโรงแยกก๊าซถึง 6 โรงในประเทศ

จากข้อมูลที่ระบุไม่แน่ใจว่าเป็นราคาของเดือนใด และไม่ทราบว่าเป็นราคาเนื้อก๊าซ LPG หรือเป็นราคาขายปลีก   แต่จากข้อมูลในเดือนพฤษภาคม 61 จะเห็นได้ว่าราคาจำหน่ายปลีกก๊าซ LPG ของประเทศไทยยังคงถูกกว่าของประเทศพม่า มิได้แพงกว่าตามข้อกล่าวอ้างแต่อย่างใด ดังแสดงในรูป

2. นายยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางรถบรรทุกแห่งอาเซียน (ATF) กล่าวว่าได้รับผลกระทบจากราคาต้นทุนน้ำมันที่เพิ่มขึ้น พร้อมเรียกร้องให้กระทรวงพลังงาน นำเงินกองทุนพลังงาน มาช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการขนส่ง

·     กระทรวงพลังงานได้ออกมาตรการส่งเสริมดีเซลหมุนเร็ว (B20) เกรดพิเศษ เพื่อช่วยลดต้นทุนภาคขนส่งและบรรเทาผลกระทบจากการที่ราคาน้ำมันตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยสนับสนุนการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (B20) ให้เป็นน้ำมันเกรดพิเศษ สำหรับกลุ่มรถยนต์ขนาดใหญ่ เช่น รถบรรทุก ฟีดคาร์ รถโดยสารขนาดใหญ่ ซึ่งมีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลปรกติ (B7) 3 บาท/ลิตร

 

3. โซเชียลมีเดียส่วนใหญ่ วิจารณ์ว่าราคาน้ำมันที่สูง เกิดจากการจัดเก็บภาษีน้ำมัน พร้อมสะท้อนว่าสาเหตุที่รัฐบาลต้องจัดเก็บภาษีน้ำมัน สะท้อนถึงภาวะการคลังที่ถดถอย

·     ภาครัฐมิได้เพิ่มการจัดเก็บภาษีแต่อย่างใดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559  แต่ราคาน้ำมันในประเทศที่สูงขึ้นเกิดจากราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น จากปัจจัยหลายประการ เช่น การตรึงกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปคและประเทศนอกกลุ่มโอเปคในช่วงปีที่ผ่านมา สถานการณ์ประเทศเวเนซุเอลาเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศและไม่สามารถส่งออกน้ำมันดิบได้  จนล่าสุดเหตุการณ์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ดำเนินการคว่ำบาตรประเทศอิหร่านทำให้คาดการณ์ว่าน้ำมันดิบจะออกสู่ตลาดโลกน้อยลง   จากปัจจัย
ที่กล่าวมาทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวสูงขึ้นจากระดับ 50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในเดือนกันยายนปีที่แล้ว เป็นอยู่ที่ระดับ 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในปัจจุบัน หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40