กบง.เดินหน้าปฏิรูปโครงสร้างราคาเชื้อเพลิงกลุ่ม NGV พร้อมเสนอหลักการและแนวทางในการแก้ไขปัญหา SPP – Cogen ที่กำลังหมดอายุ หนุนความมั่นคงพลังงานภาคอุตสาหกรรม

ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เดินหน้าปฏิรูปโครงสร้างราคาเชื้อเพลิง ทยอยปรับขึ้นราคาขายปลีก NGV 50 สตางค์/กก. ทั้งรถส่วนบุคคลและรถสาธารณะเพื่อให้สอดคล้องต้นทุนก๊าซ NGV มากขึ้น พร้อมกับวางหลักการและแนวทางแก้ปัญหาการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กแบบระบบผลิตพลังงานร่วม (SPP- Cogeneration) ที่กำลังหมดอายุ เพื่อสนับสนุนความมั่นคงด้านพลังงานให้ภาคการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันเร่งซักซ้อมปตท.และหน่วยงานเกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือครัวเรือนที่มีรายได้น้อยให้สามารถซื้อก๊าซ LPG ได้ในราคาเดิม 18.13 บาท/กก.
ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2558 เห็นชอบแนวทางการปรับราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้สำหรับยานยนต์ (NGV) เพื่อให้เป็นไปตามคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ข้อ 6.9 ปฏิรูปโครงสร้างราคาเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ ให้สอดคล้องกับต้นทุนและให้มีภาระภาษีที่เหมาะสมระหว่างน้ำมันต่างชนิดและผู้ใช้ต่างประเภท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศและให้ผู้บริโภคระมัดระวังที่จะไม่ใช้อย่างฟุ่มเฟือย
โดยที่ประชุมฯ พิจารณาว่าราคาขายปลีกก๊าซ NGV ที่จำหน่ายอยู่ในปัจจุบันยังคงต่ำกว่าต้นทุนของก๊าซ NGV จึงเห็นควรให้ทยอยปรับราคาเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนก๊าซ NGV มากขึ้น โดยปรับราคาขายปลีกก๊าซ NGV สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลขึ้นในอัตรา 0.50 บาท/กก. จากเดิม 12.50 บาท/กก. เป็น 13.00 บาท/กก. และปรับราคาขายปลีกก๊าซ NGV สำหรับรถโดยสารสาธารณะขึ้นในอัตรา 0.50 บาท/กก. จากเดิม 9.50 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 10.00 บาท/กก. โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2558 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ กบง. ยังได้รับทราบเกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมปรับโครงสร้างราคาก๊าซ LPG โดยเฉพาะการช่วยเหลือครัวเรือนรายได้น้อย ซึ่งทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรมธุรกิจพลังงาน สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน ปตท. และผู้ค้าก๊าซ LPG ได้ประชุมเพื่อซักซ้อมความเข้าใจ พร้อมทั้งเตรียมการช่วยเหลือครัวเรือนรายได้น้อยเพื่อให้ได้ซื้อก๊าซ LPG ได้ในราคาเดิม ทั้งนี้โดย ปตท. จะเป็นผู้รับผิดชอบโครงการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภาคครัวเรือนทั้งหมดแทนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยจะทำให้ผู้มีรายได้น้อยยังคงสิทธิ์ในการซื้อก๊าซ LPG ภาคครัวเรือนได้ในราคา 18.13 บาท/กก.
นอกจากนี้ ที่ประชุม กบง. พิจารณาหลักการและแนวทางในการแก้ไขปัญหาผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ที่ผลิตไฟฟ้าด้วยระบบผลิตพลังงานร่วม (Cogeneration) ประเภทสัญญา Firm ในกลุ่มที่รับซื้อไฟฟ้ารอบก่อนปี 2550 ซึ่งกำลังจะทยอยสิ้นสุดอายุสัญญาในปี 2560 – 2568 ทั้งนี้เพราะกระทรวงพลังงานเล็งเห็นความจำเป็นสำหรับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้ไฟฟ้าและไอน้ำอย่างต่อเนื่อง และเพื่อไม่ให้กระทบต่อภาพรวมการลงทุนของประเทศ เป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในภาคอุตสาหกรรม โดยจะมีการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากการขายให้ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เท่าที่จำเป็น ด้วยสัญญาที่เหมาะสมและเป็นธรรม และไม่เป็นภาระต่อราคาค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะต้องเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณา
ที่ผ่านมามีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ระบบโคเจนเนอเรชันตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปัจจุบันจำนวน 82 โครงการ คิดเป็นปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญารวม 6,901 เมกะวัตต์