banner

กระทรวงพลังงาน หารือร่วมกับผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายแผงโซล่าเซลล์ ส่งเสริมนโยบายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์

วันนี้ (13 มีค.2562) ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ประชุมร่วมกับผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายแผงโซล่าเซลล์ มากกว่า 50 ราย ในประเด็นเรื่อง “นโยบายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์” ซึ่งการประชุม ฯ ในวันนี้ เป็นการให้ข้อมูลสถานการณ์ปัจจุบันที่เกี่ยวกับแผนงานของรัฐบาลในเรื่องของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ให้ผู้ประกอบการรับทราบข้อมูล เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการนำไปพัฒนา และวางแผนการลงทุนในอนาคต

ดร.ศิริ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ไปแล้วทั้งสิ้น 3,449 MW (ข้อมูล ธ.ค.2561) ประกอบด้วย solar farm, solar PV rooftop และโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ซึ่งกระทรวงพลังงานได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ติดตั้งไปแล้ว 3,250 MW จากเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 6,000 MW ตามแผน PDP 2015 ทำให้ยังคงเหลืออีก 2,750 MW ต่อมาได้จัดทำแผน PDP 2018 โดยมีเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นอีก 12,725 MW ในอีก 18 ปี ข้างหน้า โดยแบ่งแยกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ โซลาร์ภาคประชาชน 10,000 MW และจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในโครงการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ 2,725 MW ทั้งมีการมอบหมายให้ กกพ. พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ในกรณีการไฟฟ้ารับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากที่ใช้เองจากครัวเรือนต่างๆ ด้วย เพื่อให้สร้างความเข้าใจที่ตรงกันทุกฝ่าย นำมาซึ่งการบรรลุเป้าหมายที่วางไว้
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ยังได้มีการดำเนินการส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อชุมชน เช่น โครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ โดยติดตั้งแล้วเสร็จ 1,087 แห่ง กำลังจะติดตั้งเพิ่มเติมอีก 1,446 แห่งในปี 2562 นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมโครงการระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในโรงเรียนห่างไกล 439 แห่ง, และโครงการระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่ห่างไกล 239 แห่ง

ดร.วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักนโยบายไฟฟ้า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวว่า ครม. เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2562 รับทราบมติ กพช. ที่เห็นชอบ PDP 2018 ซึ่งตาม PDP 2018 พบว่า ตั้งแต่ปี 2568 มีความจำเป็นต้องลงทุนโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ โดยมีการพิจารณาการลงทุนเพิ่มนั้นจะพิจารณาเป็นรายภาค สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนนั้นจะมีการพิจารณาศักยภาพเชื้อเพลิงรายพื้นที่นั้นๆ โดยตาม PDP 2018 ในระยะยาวมีเป้าหมายกำลังการผลิตติดตั้งรวม 18,175 MW โดยเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์รวมประมาณ 12,275 MW แบ่งเป็น โซลาร์ภาคประชาชน 10,000 MW และ Floating Solar อีกประมาณ 2,725 MW

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ในระยะแรก กกพ. จักมีโครงการทดลอง โซล่าร์ภาคประชาชน สำหรับภาคครัวเรือน ไม่เกิน 100 MW ภายในปี 2562 ด้วยราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในอัตราไม่เกิน 1.68 บาท/หน่วยในระยะเวลารับซื้อส่วนเกิน 10 ปี โดยผู้เข้าร่วมโครงการต้องมีการเปลี่ยนมิเตอร์เป็นแบบสองทางด้วย ทั้งนี้ กกพ.จะมีการจัดรับฟังความเห็นร่างระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าฯตั้งแต่ 16 มีนาคม 2562 – 1 เมษายน 2562 หลังจากนั้นการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจะเปิดลงทะเบียนและรับข้อเสนอโครงการข่วงเดือน พฤษภาคม – กรกฎาคม 2562 และจะมีการประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการพิจารณา รวมทั้งลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้แล้วเสร็จภายในตุลาคม 2562

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามแผน PDP2015 กฟผ. จะเริ่มโครงการนำร่อง Hydro Floating Solar Hybrid ที่เขื่อนสิริธร ขนาดกำลังการผลิต 45 MW โดยมีแผนเปิดดำเนินงาน (COD) ภายในธันวาคม 2563 ในพื้นที่โครงการวม 760 ไร่ เป็นพื้นที่ผิวน้ำประมาณ 45 ไร่สำหรับติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ ไม่รวมส่วนยึดโยงต่างๆ โดยปัจจุบัน กฟผ. อยู่ระหว่างการออกแบบโครงการเบื้องต้น ซึ่งส่วนประกอบสำคัญได้แก่ (1) Double Glass Type PV Panel (2) HDPE Pontoon (3) ระบบยึดโยงที่รองรับระดับน้ำที่มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงอย่างมา โดยใช้แบบ Bottom Anchoring ที้งนี้ กฟผ. มีแผนการเปิดประมูลจัดซื้อจัดจ้างในเดือนพฤษภาคม 2562

นายวิรัช มณีขาว ผู้อำนวยการกลุ่มออกแบบมาตรฐานและทดสอบ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานมีโครงการหลัก 2 โครงการได้แก่
(1) โครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ในเขตพื้นที่ชนบทตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 – 2558 รวม 100 แห่ง ระบบละไม่น้อยกว่า 2 kW
(2) โครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้งตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 ซึ่งรวมดำเนินการแล้ว 846 แห่ง ระบบละไม่น้อยกว่า 2.5 kW ครอบคลุม 56 จังหวัด

และนายธนธัช จังพานิช ผู้จัดการสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า กิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพขีวิตของประชาชนและลดความเหลื่อมล้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (สนับสนุนโครงการไทยนิยมยั่งยืน) มีวัตถุประสงค์ (1) ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดต้นทุนและขยายโอกาสทางการเกษตร (2) ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ทางไกลและนวัตกรรมทางการศึกษา (3) ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบท โดยมีกำลังการผลิตรวมของทั้ง 3 ระบบเป็น 7,709 kW และ 13,407 kW สำหรับผลการดำเนินงานปีงบประมาณ 2561 (เพิ่มเติม) และปีงบประมาณ 2562 ตามลำดับ