banner

กระทรวงพลังงาน ร่วมกับประเทศนอร์เวย์ เดินหน้าเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจด้าน LNG เพื่อรองรับการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น

วันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน 2560 พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนาความร่วมมือด้าน LNG ระหว่างประเทศนอร์เวย์และประเทศไทย ณ ห้องประชุม 9 ชั้น 15 ศูนย์เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ อาคารบี กรุงเทพฯ โดยมีเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ มหาวิทยาลัย บริษัทเอกชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมการสัมมนาดังกล่าว จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงพลังงาน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และกระทรวงการต่างประเทศ กับประเทศนอร์เวย์ โดยสถานฑูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในธุรกิจ LNG และเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงการกำกับดูแลของภาครัฐ ทั้งนี้เนื่องจากประเทศนอร์เวย์เป็นประเทศที่มีทรัพยากรทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ จึงเป็นการสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการใช้ LNG ในรูปแบบอื่นๆ ร่วมกัน อาทิ สถานีแปรสภาพก๊าซธรรมชาติที่ถูกทำให้เหลวเป็นก๊าซธรรมชาติแบบลอยน้ำ (Floating Storage Regasification Unit : FSRU หรือ Small scale LNG)


พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า รัฐบาลไทย โดยกระทรวงพลังงาน กำหนดแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan 2015) เพื่อบริหารจัดการทั้งด้านความต้องการและการจัดหา โดยในส่วนของ LNG จะมีความสำคัญสำหรับประเทศไทยในอนาคตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทางรัฐบาลได้กำหนดนโยบายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการนำเข้า รวมทั้งนโยบายด้านการเปิดให้มีผู้สนใจเข้ามาสู่ในระบบโครงข่ายด้านก๊าซมากขึ้น ในการเตรียมความพร้อมแนวทางการแข่งขันเสรีกิจการก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนในที่สุด


“โดยการสัมมนาในวันนี้ นอกจากจะเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านธุรกิจ LNG แล้ว ยังเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการกำกับดูแลเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านปิโตรเลียม เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่ชัดเจนและรอบด้านในการนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากประเทศนอร์เวย์มีระบบการให้สิทธิและสำรวจปิโตรเลียมทั้งระบบสัมปทานและระบบแบ่งปันผลผลิต ซึ่งประเทศไทยก็ได้มีการปรับปรุงให้มีระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contact, PSC) และสัญญาจ้างบริการ (Service Contact, SC) เพิ่มขึ้นมาใช้ร่วมกับระบบสัมปทานเดิม โดยปัจจุบันอยู่ในช่วงการปรับปรุงและดำเนินงานด้านกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการเตรียมเปิดประมูลแหล่งสิ้นสุดสัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย 2 แหล่งใหญ่ คือแหล่งบงกช และแหล่งเอราวัณ ที่คาดว่าจะสามารถเปิดให้สิทธิปิโตรเลียมรอบใหม่ในช่วงปลายปี 2560” พลเอก อนันตพร กล่าว