banner

การบริหารและกำกับกิจการพลังงานของสหภาพยุโรปในสังคมโลกยุคใหม่

วันที่ 19 กันยายน 2559 พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เป็นประธานกล่าวเปิดการบรรยายพิเศษของสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ในโอกาสครบรอบ 30 ปี ของการก่อตั้งสถาบันปิโตรเลียมฯ

ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว ในเรื่องเกี่ยวกับการเสริมสร้างประสิทธิภาพและความมั่นคงด้านพลังงานของสหภาพยุโรป โดยนายวอลเทอร์ โบ้วส์ (DI Walter Boltz) อดีตผู้อำนวยการ Energie Control Austria (E-Control) ได้กล่าวในการบรรยายว่า “การบริหารจัดการและการกำกับกิจการพลังงานของสหภาพยุโรป ซึ่งครอบคลุมทั้งภาคไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ ที่มีการดำเนินการตลอดช่วงเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้บรรลุถึงเป้าหมายการเปิดเสรีระบบพลังงานให้มีการแข่งขันโดยผู้ประกอบการมากราย ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อจากผู้จำหน่ายที่มีหลายรายแข่งขันกันในราคาพลังงานที่สะท้อนการแข่งขัน รวมทั้งการเชื่อมโยงโครงข่ายพลังงานให้สามารถรับส่งพลังงานข้ามพรมแดนระหว่างประเทศในสหภาพยุโรปได้อย่างเสรี ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแล้ว ยังช่วยทำให้ตลาดพลังงานมีการแข่งขันกันอย่างมีประสิทธิภาพทั้งภูมิภาค และเมื่อดำเนินการไปพร้อมกับการมีระบบการกำกับกิจการพลังงานที่ดี ก็จะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภคและสังคม” ทั้งนี้ นายวอลเทอร์ โบ้วส์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “อย่าถอดใจโดยง่าย การเปิดเสรีระบบพลังงานต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะสัมฤทธิ์ผล และหวังว่าประสบการณ์ในการบริหารและกำกับกิจการพลังงานของสหภาพยุโรปที่ได้นำเสนอในวันนี้ จะเป็นประโยชน์ในการพิจารณาการปรับโครงสร้างการบริหารและกำกับกิจการพลังงานของประเทศไทย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและสังคมในอนาคตได้เช่นกัน”
ทั้งนี้ ในระหว่างการกล่าวเปิดการบรรยาย พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวถึงนโยบายของกระทรวงพลังงานว่า “กระทรวงพลังงานได้มีการทบทวนยุทธศาสตร์ในการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง เพราะการเปลี่ยนแปลงในภาคพลังงานเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา หากการกำหนดนโยบายและการกำกับดูแลไม่สามารถพัฒนาได้ทันกับความเปลี่ยนแปลงก็ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคพลังงาน ซึ่งในด้านนโยบายก็ได้กำหนดทิศทางใหม่ๆ ที่จะสร้างภาคพลังงานให้มีความมั่นคง มีประสิทธิภาพ และมีความยั่งยืน อาทิ การเพิ่มการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ การปฏิรูปการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ที่ปัจจุบันมีการผลิตอย่างกว้างขวาง ซึ่งในอนาคตไฟฟ้าที่จะส่งเข้าระบบต้องมีลักษณะ Firm การพัฒนาด้าน Smart City และ Smart Grid การพัฒนาเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในภาค
พลังงานของไทย จึงมีความจำเป็นที่การกำกับดูแลจะต้องมีความทันสมัยรองรับสิ่งใหม่ๆ เหล่านี้ด้วย การบรรยายในวันนี้จึงเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญด้านการกำกับดูแลในระดับสากล ซึ่งกระทรวงพลังงานสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้”
ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมฯ กล่าวในตอนท้ายว่า “การบรรยายพิเศษครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดการบรรยายพิเศษภายใต้หัวข้อ “อนาคตโลกที่สัมผัสได้ด้านพลังงาน – ยานยนต์ – วัสดุ – สังคม” หรือ “The Smart Future in Energy – Transport – Materials –Society: A Far Away Reality?” ที่จัดขึ้นในวาระการครบรอบ 30 ปี ของการก่อตั้งสถาบันปิโตรเลียมฯ โดยเป็นการเสนอมุมมองเกี่ยวกับวิวัฒนาการด้านการกำกับกิจการพลังงานในสหภาพยุโรปในสังคมโลกยุคใหม่ ที่นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดหาพลังงาน และความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งการบรรยายในวันนี้ เป็นการบรรยายต่อเนื่องจากการบรรยายของนายโทนี่ เซบา (Mr. Tony Seba) ในหัวข้อเรื่อง “Clean Disruption: Why Current Energy and Transport System Will Be Obsolete by 2030” ที่จะผลักดันประเทศไทยให้เป็นเมืองอัจฉริยะด้านพลังงานและยานยนต์ในอนาคต และการบรรยายของ ดร. คริสเตียน ฮัสเลอร์ (Dr. Christian Haessler) จากบริษัท โคเวสโตร จำกัด ในหัวข้อเรื่อง “Materials from CO2: How Will CO2 Replace Petroleum in Polymers” ซึ่งนำเสนอนวัตกรรมการรักษ์โลกด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตวัสดุพอลิเมอร์เชิงพาณิชย์ แทนการใช้น้ำมันและก๊าซฯ เป็นวัตถุดิบ”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

การบริหารและกำกับกิจการพลังงานของสหภาพยุโรปในสังคมโลกยุคใหม่

การบริหารและกำกับกิจการพลังงานของสหภาพยุโรปในสังคมโลกยุคใหม่