banner

การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 36 ได้บรรลุความร่วมมือที่สร้างความมั่นคงด้านพลังงานในอาเซียนอย่างยั่งยืน ทั้งด้านการซื้อขายไฟฟ้าพหุภาคีในภูมิภาค การเชื่อมโยงโครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติ การพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และการส่งเสริมเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานและคณะผู้แทนจากประเทศไทย เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 36 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (36th ASEAN Ministers on Energy Meeting and Associated Meetings: 36th AMEM) ภายใต้ธีม Transforming Energy : Invest, Innovate, Integrate ระหว่างวันที่ 25 – 30 ตุลาคม 2561 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และปลัดกระทรวงพลังงาน จากทั้ง 10 ประเทศอาเซียน และ         8 ประเทศคู่เจรจา ประกอบด้วย ออสเตรเลีย อินเดีย นิวซีแลนด์ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา และ 2 องค์กรระหว่างประเทศ ประกอบด้วย ทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA)  ซึ่งการประชุมฯ ครั้งนี้ ได้ติดตามการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียน (ASEAN Plan of Action on Energy Cooperation: APAEC) ปี 2559-2568 ระยะที่ 1 ระหว่างปี 2559-2563 ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงและการบูรณาการด้านพลังงาน โดยในการประชุมจะมีการรับรองถ้อยแถลงร่วม (Joint Ministerial Statement of the 36th AMEM) ซึ่งมีประเด็นสำคัญได้แก่

ด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน

  • ความสำเร็จในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยสามารถลดความเข้มการใช้พลังงาน (Energy Intensity) ในปี 2559 ได้ถึง 21.9% เทียบจากปีฐาน 2548 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 20% ภายในปี 2563
  • การผลักดันให้มีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Building Code) ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างอาเซียนและเยอรมัน (AGEP)
  • ยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วยการจัดทำมาตรฐานขั้นสูง และดำเนินข้อตกลงที่เป็นข้อตกลงในอาเซียน เพื่อยอมรับผลการตรวจสอบด้านพลังงานของผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์ในระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN Sectoral Mutual Recognition Arrangement for Electrical & Electronic Equipment : ASEAN EE MRA)

การดำเนินงานร่วมกับ IEA ในการพัฒนานโยบายพลังงานและเสริมสร้างศักยภาพในการลงทุนและการจัดหาเงินทุนสำหรับอาเซียนในอนาคต

  • ริเริ่มจัดทำแนวทางการเสริมสร้างศักยภาพในการลงทุนและการจัดหาเงินทุนสำหรับอาเซียนในอนาคต(Capacity Building Roadmap on Energy Investment and Financing) เพื่อเตรียมความพร้อมด้านการลงทุนและการวิเคราะห์ทางด้านการเงินสำหรับโครงการด้านพลังงาน
  • จัดทำแนวทางการดำเนินงานที่สามารถตอบสนองต่อความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

การร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมายของอาเซียนต่อพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)

  • อาเซียนได้ลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างอาเซียนและทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA) เพื่อผลักดันให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนในอาเซียนให้ได้ตามเป้าหมาย 23% ในปี 2568 ซึ่งในปี 2559 มีสัดส่วนอยู่ที่ 12.4%

เสริมสร้างศักยภาพด้านพลังงานนิวเคลียร์เพื่อประชาชน

  • ร่วมมือกับจีน แคนาดา และองค์การพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ในการสร้างขีดความสามารถด้านความปลอดภัยและความมั่นคงนิวเคลียร์ รวมทั้งสนับสนุนการศึกษาความเป็นไปได้สำหรับการพัฒนาโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ในอาเซียนที่กำลังดำเนินการอยู่ และกฎระเบียบ ความปลอดภัย และความเข้าใจของประชาชนในเรื่องพลังงานนิวเคลียร์

การส่งเสริมเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด

– มีการเผยแพร่กรณีศึกษาเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดปรับปรุงคุณภาพถ่านหินในอินโดนีเซีย และรูปแบบการจัดหาเงินทุน (Financial Model) ในเวียดนาม เพื่อสร้างโอกาสการลงทุนถ่านหินในอาเซียน

– ได้มีการส่งเสริมประสิทธิภาพและการใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดมาตรฐานสูงในอาเซียน และไทยได้ริเริ่มการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี จึงได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการด้านถ่านหินที่เกี่ยวข้องกับความห่วงใยด้านสิ่งแวดล้อมโลกในช่วงกลางปีนี้

การเสริมสร้างความร่วมมือด้านก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และการค้าในอาเซียน

– มีสถานีแปรสภาพก๊าซให้เป็นของเหลว (Regasification Terminal) จำนวน 8 สถานี ที่สามารถรองรับ LNG จาก 36.3 ล้านตันต่อปี และมีแผนที่ขยายให้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 27 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2568

– การจัดทำแผนแม่บทการซื้อ-ขาย เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและจัดทำร่างสัญญาซื้อขาย LNG สำหรับใช้ในอาเซียน

– มีการเผยแพร่ผลการศึกษา Gas Advocacy White Paper เพื่อสนับสนุนการใช้ก๊าซธรรมชาติและ LNG ผ่านช่องทางการตลาดที่มีความเชื่อมโยงกัน (ASEAN Common Gas Market) และการศึกษาต่อยอดเรื่อง Small-Scale LNG และ LNG Bunkering

การขยายการซื้อ-ขายไฟฟ้าพหุภาคีในอาเซียน

– โครงการซื้อขายไฟฟ้าระดับพหุภาคี LTM-PIP ที่เริ่มขึ้นมาตั้งแต่มกราคม 2561 และเริ่มซื้อขายไฟฟ้าแล้ว รวมจำนวน 15.9 ล้านหน่วย ซึ่งที่ประชุมก็ผลักดันให้มีประเทศอื่นๆ เข้าร่วมการซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เช่น สิงคโปร์ เมียนมา และให้มีการซื้อขายในลักษณะ Firm Contract

– การศึกษาการจัดตั้งสถาบันเพื่อรองรับการซื้อขายไฟในอาเซียน เพื่อควบคุมระบบไฟฟ้าและวางแผนระบบไฟฟ้าอาเซียน

สร้างแรงจูงใจด้านการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานหมุนเวียน

  • ในปีนี้มีได้มีการมอลรางวัล ASEAN Energy Awards 2018 รวม 63 รางวัล แบ่งเป็นรางวัลด้าน การอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานหมุนเวียน จำนวน 52 รางวัล และด้านเชิดชูเกียรติบุคคลด้านพลังาน จำนวน 11 รางวัล
  • ประเทศไทยได้รับรางวัลรวมทั้งหมด 25 รางวัล ซึ่งมากที่สุดในอาเซียน แบ่งเป็นด้านพลังงานหมุนเวียนและด้านอนุรักษ์พลังงาน ในระดับอาเซียนรวม 21 รางวัล และได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติบุคคลด้านพลังาน 4 รางวัล มีรายละเอียด ดังนี้

1) ด้านโครงการพลังงานหมุนเวียนดีเด่น ส่งประกวด 13 ผลงาน ได้รับ 13 รางวัล แบ่งเป็น

  • รางวัลชนะเลิศ จำนวน 6 รางวัล
  • รองชนะเลิศ อันดับ 1 จำนวน 4 รางวัล
  • รองชนะเลิศ อันดับ 2 จำนวน 3 รางวัล

2) ด้านบริหารจัดการพลังงานดีเด่น ส่งประกวด 7 ผลงาน ได้รับ 6 รางวัล แบ่งเป็น

  • รางวัลชนะเลิศ จำนวน 4 รางวัล
  • รองชนะเลิศ อันดับ 1 จำนวน 1 รางวัล
  • รองชนะเลิศ อันดับ 2 จำนวน 1 รางวัล

3) ด้านอาคารอนุรักษ์พลังงานดีเด่น ส่งประกวด 3 ผลงาน ได้รับ 1 รางวัล ได้แก่

  • รองชนะเลิศ อันดับ 2 จำนวน 1 รางวัล

4) ด้านอาคารเขียวดีเด่น ส่งประกวด 2 ผลงาน ได้รับ 1 รางวัล ได้แก่

  • รองชนะเลิศ อันดับ 1 จำนวน 1 รางวัล

5) รางวัลเชิดชูเกียรติบุคคลด้านพลังาน จำนวน 4 รางวัล ได้แก่

  • นายธรรมยศ  ศรีช่วย             อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน
  • นายวีระศักดิ์  พึ่งรัศมี             อดีตอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
  • นายเทวินทร์ วงศ์วานิช    อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
  • นางสาวดารารัตน์ ฤทธิ์บุญญากร   อดีตผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน

อนึ่ง ประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการประชุมครั้งนี้ คือ ไทยได้นำเสนอแนวคิดการพัฒนาด้านพลังงานของไทยให้กับที่ประชุม ซึ่งได้รับความสนใจในบทบาทของไทยด้านพลังงานซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในเวทีอาเซียนในการช่วยเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค รวมถึงองค์กรชั้นนำด้านพลังงานระดับโลก ที่จะพัฒนานโยบาย และศักยภาพเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของไทยและอาเซียนต่อไป