banner

งานแถลงผลการดำเนินงานของกระทรวงพลังงานในปี 2559 และการขับเคลื่อนนโยบาย Energy 4.0 ประจำปี 2560

กระทรวงพลังงาน แถลงผลการดำเนินงานในรอบปี 2559 ย้ำ มุ่งเน้นการบริหารเพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เป็นหลัก ยึดกรอบประโยชน์ประเทศชาติ ทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม และประชาชน ชี้ ปี 2560 เดินหน้าขับเคลื่อน Energy 4.0 ควบคู่โครงการประชารัฐ สอดรับนโยบายรัฐ Thailand 4.0
พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของกระทรวงพลังงานในรอบปี 2559 ว่า ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานมุ่งเน้นการทำงานเพื่อเป้าหมายในการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ให้กับภาคพลังงานของประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และประชาชน อย่างรอบด้าน สำหรับภาพรวมผลงานในรอบปี 2559 ของกระทรวงพลังงานแบ่งตามผลงานทั้งด้านความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน รายละเอียด ดังนี้
ผลงานด้านความมั่นคง ได้ดำเนินการการสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้า และการพัฒนาความมั่นคง ด้านปิโตรเลียม โดยในส่วนการสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้า ได้มีการบูรณาการตั้งแต่ระบบผลิตด้วยการเร่งรัด ผลักดัน การพัฒนาโรงไฟฟ้าให้เป็นไปตามแผน PDP 2015 พร้อมทั้งพัฒนาระบบสายส่งให้สามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นและรองรับพลังงานทดแทนได้ รวมถึงมีการสร้างความร่วมมือด้านพลังงานกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ดำเนินขยายกรอบการรับซื้อไฟฟ้าจาก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จากเดิม 7,000 เมกะวัตต์เพิ่มเป็น 9,000 เมกะวัตต์ ขณะที่การพัฒนาความมั่นคงด้านปิโตรเลียม ได้ดำเนินการต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียม จำนวน 2 แปลง ได้แก่ แปลง B8/32 ในพื้นที่อ่าวไทย และแปลง SW1 ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ นอกจากนี้ ยังได้มีการพัฒนาระบบขนส่งน้ำมันทางท่อ สายเหนือ เส้นทาง อยุธยา-กำแพงเพชร-ลำปาง และสายอีสาน เส้นทาง สระบุรี-ขอนแก่น
ผลงานด้านความมั่งคั่ง ได้ดำเนินมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชน โดยได้มีการปรับลดค่า Ft ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม 2558 – ธันวาคม 2559 ลงจำนวน 52.68 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ประเทศประหยัดค่าไฟฟ้าได้จำนวน 92,103 ล้านบาท/ปี สนับสนุนให้เกิดการแข่งขันในกิจการ ก๊าซเสรี อาทิ เปิดให้มีการนำเข้า LPG เสรี โดยแบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านก่อนเปิดเสรีทั้งระบบ และระยะที่ 2 เปิดเสรีทั้งระบบ ซึ่งเบื้องต้นให้ดำเนินการในระยะที่ 1 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 เป็นต้นไป พร้อมทั้งมีการผลักดันให้เกิดผู้เล่นรายใหม่ในกิจการก๊าซธรรมชาติ โดยอนุมัติให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยดำเนินโครงการ Floating Storage and Regasification Unit (FSRU) เพื่อรองรับการนำเข้า LNG ตอนบน และผลักดัน พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อปรับปรุงโครงสร้างในการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีความชัดเจนและมีกฎหมายรองรับ ล่าสุด พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
ผลงานด้านการสร้างความยั่งยืน ได้มีการส่งเสริมพลังงานทดแทน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการผลักดันโครงการประชารัฐ โดยการส่งเสริมพลังงานทดแทนมีการดำเนินการ อาทิ การปรับลดอัตราการ รับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบ Feed- in Tariff ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน การเปิดโครงการโซลาร์เสรี จำนวน 100 เมกะวัตต์ และส่งเสริมให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าใช้เองด้วยการติดตั้ง Solar rooftop บนหลังคาบ้านเรือนและอาคารธุรกิจรวมถึงการรับซื้อไฟฟ้าจากชีวมวลในพื้นที่ภาคใต้ และการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม ส่วนการดำเนินมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการอนุรักษ์พลังงาน ประกอบด้วย การจัดการพลังงานในโรงงานและอาคารควบคุม จำนวน 8,600 ราย คิดเป็นผลการประหยัดพลังงานอยู่ที่ 320 ktoe การผลักดันการบังคับใช้กฎหมายร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อดำเนินการมาตรการ Building Energy Code โดยเริ่มบังคับอาคารตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตร ภายในปี 2560 การส่งเสริมการติดฉลากอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงและวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 26 ล้านใบ คิดเป็นผลประหยัดอยู่ที่ 207.9 ktoe นอกจากนี้ยังมีมาตรการสนับสนุนทางการเงิน อาทิ โครงการเงินทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ปล่อยกู้แล้ว 1,037 ล้านบาท คิดเป็นผลประหยัด 6.84 ktoe ต่อปี ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน จำนวน 210 ล้านบาทต่อปี สำหรับการผลักดันโครงการประชารัฐ มุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้เกษตรกร โดยได้มีการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงพลังงานทดแทน เช่น การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ยกระดับคุณภาพชีวิตผ่านโครงการไฟฟ้าพลังน้ำชุมชน การนำของเหลือใช้มาผลิตพลังงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพื่อลดรายจ่ายชุมชน และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรจากพืชพลังงาน สิ่งเหลือใช้ เพื่อผลิตก๊าซชีวภาพและชีวมวล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวต่อว่า สำหรับภาพรวมการขับเคลื่อนนโยบายพลังงานปี 2560 นั้น กระทรวงพลังงานจะขับเคลื่อนภาคพลังงานของประเทศตามแนวนโยบาย Energy 4.0 ซึ่งมีเป้าหมายคือ การสร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศ เพื่อให้ประเทศชาติในภาพรวมหลุดพ้นจากการเป็นประเทศรายได้ระดับปานกลาง สอดรับกับนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล ให้เป็นรูปธรรมตามแผนที่วางไว้
ส่วนแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย Energy 4.0 ของกระทรวงพลังงานในปี 2560 นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนนโยบาย Energy 4.0 มีหลักการ ที่สำคัญ คือ การยกระดับประสิทธิภาพของระบบพลังงานในปัจจุบัน และการนำนวัตกรรมที่เหมาะสม มาใช้ในการพัฒนา ส่วนองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย กระทรวงพลังงานได้คำนึงให้ครอบคลุมระบบพลังงานทั้งระบบ (Energy Supply Chain) ตั้งแต่การผลิต จัดหา แปรรูป ขนส่งไปจนถึงการใช้ โดยได้แบ่งตามประเภทพลังงาน ซึ่งจะครอบคลุมถึงแผนพลังงานระยะยาว ได้แก่ แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ควบคู่ไปกับแนวนโยบายประชารัฐ

โดยในด้านเชื้อเพลิงภาคขนส่ง มาตรการสำคัญที่จะขับเคลื่อนในปี 2560-2561 อาทิ การส่งเสริมการผลิตและการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งจะดำเนินการศึกษาต้นทุนร่วมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การกำหนดแนวทางการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพอย่างยั่งยืน และการเพิ่มสัดส่วนการใช้เอทานอล และไบโอดีเซลด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีให้ดีขึ้น การเพิ่มศักยภาพการขนส่งน้ำมันทางท่อ โดยในเดือนเมษายน 2560 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในเส้นทางสายเหนือ คือ อยุธยา –กำแพงเพชร-พิจิตร และกำแพงเพชร-ลำปาง ส่วนในปี 2561 จะเริ่มก่อสร้างในสายอีสาน เส้นทาง สระบุรี-ขอนแก่น นอกจากนี้ยังจะดำเนินการสรุปแนวทางการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ภายในเดือนสิงหาคม 2560
ด้านไฟฟ้า มาตรการสำคัญที่จะขับเคลื่อนในปี 2560-2561 อาทิ การจัดทำแผนการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนรายภาค การสร้างตลาดซื้อขายไฟให้โรงไฟฟ้าเก่าที่มีศักยภาพ การบริหารจัดการให้ผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าต้นทุนต่ำให้มากที่สุด การประกวด Smart City ต้นแบบ และการกำหนดรูปแบบทางธุรกิจไมโครกริด และเริ่มโครงการไมโครกริดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ด้านเชื้อเพลิงผลิตความร้อน มาตรการสำคัญที่จะขับเคลื่อนในปี 2560-2561 อาทิ การเปิดเสรี ก๊าซธรรมชาติ และการขับเคลื่อน Third Party Access Code การสร้างความต่อเนื่องการผลิต ก๊าซธรรมชาติในประเทศ และการขยาย LNG Terminal และท่อก๊าซธรรมชาติ
สำหรับโครงการประชารัฐ มาตรการสำคัญที่จะขับเคลื่อนในปี 2560-2561 อาทิ การส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนลดการใช้พลังงานในการผลิต 326 แห่ง ส่งเสริมครัวเรือนต้นแบบ 15,200 ครัวเรือนในการลดใช้พลังงานลงให้ได้ 10% และส่งเสริมชุมชนผลิตชีวมวลป้อนภาคอุตสาหกรรม
ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวต่อว่า การขับเคลื่อน Energy 4.0 มีเป้าหมายเพื่อยกระดับการบริหารจัดการระบบพลังงาน ส่งผลให้การผลิต การจัดหาพลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใน ปี 2560-2561 ได้ตั้งเป้าการลดใช้พลังงานในภาคต่างๆ อาทิ ภาคการผลิตไฟฟ้าลดลง 24 ล้านตัน/ปี ภาคพลังงานในครัวเรือนลดลง 4 ล้านตัน/ปี ภาคพลังงานในอาคารลดลง 1 ล้านตัน/ปี ภาคพลังงานพลังงานอุตสาหกรรมลดลง 41 ล้านตัน/ปี และภาคขนส่งลดลง 41 ล้านตัน/ปี เป็นต้น

nik_5673

nik_5659

nik_5667

nik_5663

nik_5713

nik_5704