banner

รมว. พลังงาน ลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.เชียงใหม่ ตรวจเยี่ยมการลงทุนติดตั้งระบบอบแห้งแสงอาทิตย์ และ การผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ในโรงเรียนชนบท สร้างรายได้ให้เกษตรกรและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล

ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน เดินทาง ตรวจราชการในจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ระหว่างวันที่ 13-15 มกราคม 2562 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ เพื่อติดตามผลสัมฤทธิ์ของโครงการด้านพลังงานในการสนับสนุนการพัฒนา ชุมชนในที่ต่างๆ ดังนี้

ในวันที่ 13 มกราคม 2562  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ติดตามการใช้งานระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ (พาราโบลาโดม) ของบริษัทชาวไทยภูเขา (ฮิลล์คอฟฟ์) อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นโครงการที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้พัฒนาออกแบบและช่วยเงินลงทุนติดตั้งระบบ ในสัดส่วน 30% เป็นเงิน 485,800 บาท เพื่อใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาคุณภาพเมล็ดกาแฟได้ให้สูงยิ่งขึ้น โดยพาราโบลาโดมจะช่วยลดระยะเวลาการตากเมล็ดกาแฟลงได้ถึง 5-10 วัน และทำให้ได้เมล็ดกาแฟ     มีรสชาติใหม่ ถูกสุขอนามัย ลดความเสียหาย ทำให้ผลผลิตออกมาเป็นเมล็ดกาแฟแบบ Honey process Wet process และ Dry Process สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรชาวเขาในพื้นที่ที่เพาะปลูกกาแฟได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี และพาราโบลาโดมยังถูกนำไปใช้เพื่อทำกล้วยตากได้ถึง 220 กิโลกรัมต่อปีอีกด้วย  นอกจากนี้ ยังได้     นำระบบเทคโนโลยีเพื่อมาต่อยอดให้เป็นสมาร์ทโดมที่สามารถรายงานผลและสั่งการผ่านโทรศัพท์มือถือ ในการควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ในระยะต่างๆ ของการอบแห้งกาแฟได้

โครงการจัดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับโรงเรียนชนบท ณ โรงเรียนบ้านห้วยต้นตอง   อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและไฟฟ้าเข้าไม่ถึง โดยเมื่อปี 2549 พพ. ได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดในวงเงินประมาณ 1.4 ล้านบาท เพื่อติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ ขนาดกำลังผลิตพร้อมแบตเตอรี่ขนาด 36 กิโลวัตต์ชั่วโมง ใช้กับอาคารเรียน 2 ชั้น และในปี 2553 ได้ขยายผลกำลังการผลิตไฟฟ้า ของโครงการขึ้นอีก 3 กิโลวัตต์ เพื่อใช้กับอาคารเรียนชั้นอนุบาล อาคารสำนักงาน และโรงอาหาร และในปี 2561 พพ. ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าขึ้นอีก 10 กิโลวัตต์ พร้อมกับแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนขนาด 100 กิโลวัตต์ชั่วโมง ทั้งนี้ กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้นอกจากจะช่วยเพิ่มคุณภาพการศึกษาของนักเรียนระดับประถมศึกษากว่า 117 คน แล้วพลังงาน   ที่กักเก็บไว้ในแบตเตอร์รี่จะถูกนำมาช่วยเพื่อเตรียมการสอนของครูในช่วงค่ำ นอกจากนี้ ในบางโอกาสไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดนำไปใช้ในกิจกรรมของชุมชนชาวเขาที่อยู่บริเวณโดยรอบกว่า 800 คน จาก150 ครัวเรือน ซึ่งจะช่วยยกระดับความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนจากการมีไฟฟ้าใช้จากระบบเซลล์แสงอาทิตย์ได้เป็นอย่างดี