banner

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลองค์กรที่มีความเป็นเลิศในด้านต่างๆ ของกิจการถ่านหินของไทย (Thailand Coal Awards) ครั้งที่ 3

พลเอก อนันตพร  กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในวันนี้ (2 สิงหาคม 2560) กระทรวงพลังงาน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้จัดพิธีมอบรางวัลองค์กรที่มีความเป็นเลิศในด้านต่างๆ ของกิจการถ่านหินของไทย (Thailand Coal Awards) ครั้งที่ 3  ให้กับองค์กรที่เป็นเลิศในด้านต่าง ๆ โดยเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงพลังงานในด้านการบริหารจัดการของผู้ประกอบการถ่านหินตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นเหมืองถ่านหิน การใช้ถ่านหินในอุตสาหกรรม และผลิตกระแสไฟฟ้า ให้เกิดประสิทธิภาพ ไม่มีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับประชาชน และชุมชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ให้เกิดความเข้าใจในประโยชน์ของการใช้ถ่านหิน ที่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีเพื่อการควบคุม และดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีด้านถ่านหินมาเป็นเชื้อเพลิงในเชิงอุตสาหกรรมหรือผลิตกระแสไฟฟ้า ที่สามารถควบคุมและดูแลกระบวนการผลิตไม่ให้ส่งผลกระทบไปสู่ภายนอก หรือสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนานาชาติให้การรับรอง โดยปัจจุบันหลายประเทศใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลัก ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ที่มีการสัดส่วนการใช้ถ่านหินสูงถึง 25-50%  และการใช้ถ่านหินเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าทั่วโลกมีสัดส่วนสูงถึง 40%  รวมทั้งในบางประเทศที่มีแหล่งพลังงานขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา ก็ยังใช้ถ่านหินเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศด้วย ดังนั้นการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลเหมือนในอดีต เพราะทุกอย่างสามารถควบคุมได้ด้วยเทคโนโลยี ที่ทันสมัย”

พลเอก อนันตพร กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้น รวมทั้งระบบ   การบริหารจัดการที่มีคุณภาพไม่ว่าจะเป็นการขนถ่าย  การเก็บรักษาถ่านหิน ต้องทำด้วยระบบปิดแบบครบวงจร  นับว่าเป็นต้นแบบที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับให้กับชุมชนได้อย่างดี ซึ่งการมอบรางวัลองค์กรที่มีความเป็นเลิศในด้านต่างๆ ของกิจการถ่านหินของไทย  (Thailand Coal Awards) ในครั้งนี้ จะเป็นต้นแบบที่ดีให้กับหน่วยงานอื่นๆ ได้นำไปประยุกต์ใช้ และขยายเครือข่ายองค์กรที่ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพได้ในอนาคต

นายวีระศักดิ์  พึ่งรัศมี  อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้มีการแบ่งรางวัลเป็น 3 ประเภท โดยมีผู้ได้รับรางวัลทั้งหมด 9 รางวัล ดังนี้

ประเภทการดำเนินการด้านถ่านหินเป็นเลิศ (Best Practice Category) ได้แก่

– Mae Moh Lignite Mine จากเหมืองแม่เมาะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

– BLCP 2x 717MW Coal-fired Power Station จากบริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด

– SKIC Closed-Sytem Coal Operation for Sustainable Development (Ban Pong Dome Coal Storage) จากบริษัท สยามคราฟอุตสาหกรรม จำกัด

 

ประเภทการมีส่วนร่วมต่อชุมชนและสังคม (Corporate Social Responsibility Catagery) ได้แก่

– The Environmental Collaboration for Sustainable Development in Mae Moh District  จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

– TPIPL intend continuing commitment to CSR จากบริษัท ทีพีไอ โพลีน  จำกัด(มหาชน)

– Sustainable Social Participation of BLCP Coal Fired Power Plant จากบริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด

– Asia Green Energy : Green Society จากบริษัท เอเชีย กรีน เอนเนอจี จำกัด(มหาชน)

 

ประเภทหัวข้อพิเศษ (Special Submission Category) ได้แก่

– Distribution Bunker Cleaning Equipment จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

– Specific energy consumption Improvement of kiln plant จากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน)