banner

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชี้โอกาสไทยเป็นบิ๊กพลังงานทางเลือกภูมิภาค SEA พร้อมโชว์ศักยภาพระบบ ‘โซลาร์เซลล์-พลังงานลม-ชีวมวล’ บนเวทีโลก


นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังการเข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์และแลกเปลี่ยนกับประเทศชั้นนำในระดับนโยบายในเวทีการประชุมรัฐมนตรีระดับโลกในการบูรณาการระบบพลังงานหมุนเวียน (Global Ministerial Conference on System Integration of Renewables) ที่ประเทศเยอรมนี (1 ต.ค.62) ว่า เวทีนี้มีความสำคัญเพราะเป็นการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ในเชิงนโยบายกับประเทศชั้นนำหลายประเทศถึงทิศทางการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทางเลือกที่กำลังกลายเป็นกระแสหลักแทนพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลดั้งเดิม เป้าหมายของทุกประเทศชั้นนำด้านพลังงานจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานทางเลือกสูงขึ้น ซึ่งไทยก็มีเป้าหมายตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกว่า ในปี 2580 สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียนจะอยู่ที่ระดับ 20% หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปัจจุบัน ซึ่งสอดล้องกับนโยบายพลังงาน Energy for All พลังงานเพื่อทุกคน ที่จะเกิดโรงไฟฟ้าชุมชนซึ่งใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานหมุนเวียนเกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านของพลังงานทางเลือกในประเทศไทย


“สำหรับประเทศไทย พลังงานทางเลือกไม่ได้เป็นแค่ทิศทาง แต่เราได้ดำเนินการไปมากกว่านั้นด้วยการวางนโยบายให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชนขึ้นด้วยการอาศัยจุดแข็งด้านวัสดุทางการเกษตรของแต่ละชุมชนที่นำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนให้ชุมชนและสามารถขายส่วนเกินเข้าระบบได้อีกด้วย และในอนาคตคาดว่าไทยจะสามารถนำโมเดลการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคนี้นำเสนอบนเวทีโลกในโอกาสต่อไป เพื่อแสดงให้เห็นว่าโมเดลนี้เป็นการพัฒนาพลังงานทางเลือกที่สามารถสร้างให้ระบบเศรษฐกิจในภาพรวมเข้มแข็งขึ้นได้จริง” นายสนธิรัตน์กล่าวในการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ด้านนโยบายของไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้กล่าวถึงเรื่องราวความสำเร็จในการเกิดพลังงานทางเลือกว่า ประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำด้านปฏิบัติที่เป็นเลิศในระดับภูมิภาคด้านพลังงาน โดยทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุไทยมีการใช้พลังงานหมุนเวียนสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ไม่รวมโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ และไทยกำลังก้าวสู่ประเทศที่มีกำลังผลิตติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานชีวมวลที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ ไทยเป็นประเทศกลุ่มแรกๆ ที่ก่อตั้งกองทุนเฉพาะด้านสำหรับการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพของภาครัฐและภาคเอกชน ธนาคารพาณิชย์ของไทยมีประสบการณ์ในการจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการด้านพลังงานหมุนเวียน โครงการด้านพลังงานต่างๆ ของไทยถูกพัฒนาจริงจังทั่วทุกภูมิภาค

ในด้านการดำเนินนโยบายและโครงการต่างๆ ไทยมีนโยบายที่หลากหลายเพื่อกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมและการเปลี่ยนไปสู่แหล่งพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ที่มีความหลากหลาย(Diversified) มีการส่งเสริมในระบบกระจายไปยังหลายพื้นที่ (Decentralized) และการใช้ต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ(Cost-effective) ซึ่งจะนำประโยชน์ทางเศรษฐกิจมาสู่ชุมชนท้องถิ่น ภายใต้คอนเซ็ปต์ Energy for All

ปัจจุบันนโยบายในการพัฒนาระบบพลังงานหมุนเวียนมีทั้งการรวมพลังงานหมุนเวียนหลายๆ ประเภทเข้าด้วยกัน หรือรวมพลังงานหมุนเวียนเข้ากับระบบการกักเก็บพลังงาน หรือที่เรียกว่าเป็นระบบพลังงานหมุนเวียนแบบผสมผสาน (Renewable Energy Hybrid System) ตัวอย่างเช่น การติดตั้งและรวมโซลาร์เซลล์ลอยน้ำเข้าด้วยกันกับพลังงานน้ำ (Hydro-Floating Solar Hybrid) จำนวน 2,725 เมกะวัตต์ ที่ดำเนินการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)บริเวณด้านบนอ่างกักเก็บน้ำที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ

ไทยมีศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียนทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล ชีวภาพ ที่มีจุดแข็งด้านวัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิงชั้นดี ทั้งซังข้าวโพด ฟางข้าว แกลบ หญ้าเนเปียร์ รวมถึงพลังงานลมซึ่งเดิมไทยมีจุดอ่อนเรื่องความแรงลมไม่สูงมากนัก แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยน สามารถใช้ลมที่มีอยู่ในประเทศไทยสามารถผลิตพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

“ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นด้านพลังงานของประเทศ เราพร้อมจะสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนที่มีความหลากหลายโดยการพัฒนาระบบไฟฟ้าผ่านระบบผสมผสานของการบริหารจัดการด้านพลังงานหมุนเวียน และผมเชื่อว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้เราได้แบ่งปันแนวคิดเกี่ยวกับวิธีการจัดการกับโอกาสและความท้าทายที่สำคัญ เพื่อจัดการกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่การบูรณาการระบบพลังงานหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวในท้ายที่สุด