banner

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น “การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก”

วันที่ 9 ตุลาคม 2562 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น “การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก”
และเปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)  ได้จัดให้มีการระดมสมองผุดแผนโรงไฟฟ้าชุมชน ส่งเสริมพืชพลังงานเพิ่มรายได้ ศก.ฐานราก เปิดเวทีระดมความคิดเห็น ดึงทุกภาคส่วนร่วมแชร์ไอเดียเดินหน้า สร้างโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อเศรษฐกิจฐานรากมุ่งส่งเสริมพืชพลังงานสร้างรายได้เกษตรกร วางเกณฑ์ร่วมลงทุนให้ชุมชนมีส่วนถือหุ้นโดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง เพื่อเสริมระบบความมั่นคงพลังงานของประเทศ  ซึ่งมีหลายหน่วยงานเข้าร่วม อาทิ  สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ เป็นต้น โดยทั้งหมดได้ร่วมกันประชุมรับฟังความคิดเห็น “การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” ที่จะนำไปสู่การจัดทำกรอบการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน

ทั้งนี้เป้าหมายโรงไฟฟ้าชุมชนเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า โดยการผลิต ใช้และจัดจำหน่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญต่อการเสริมสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในประเทศและเพิ่มรายได้เข้าสู่ชุมชนตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ไม่ว่าจะเป็น การประกันรายได้จากการปลูกพืชพลังงาน การเข้าไปถือหุ้นในประกอบการกิจการโรงไฟฟ้า รวมถึงผลประโยชน์ของชุมชนที่จะได้รับรายได้จากการขายไฟฟ้า “ผลจากการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในครั้งนี้ กระทรวงพลังงาน จะนำข้อเสนอแนะ และข้อคิดเห็น ไปประกอบการพิจารณารูปแบบการพัฒนาโครงการที่เหมาะสม เพื่อเป็นแนวทางในการเปิดรับ ภาคเอกชนที่สนใจเข้าร่วมลงทุนกับชุมชน ในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนโดยกรอบดังกล่าวจะนำเสนอสู่การพิจารณา ขอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. อีกครั้ง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาโรงไฟฟ้าในปี 2563” นายสนธิรัตน์ กล่าว

สำหรับกรอบนโยบายการพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชน จะมีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายที่ตั้งโรงไฟฟ้า ซึ่งต้องเป็นพื้นที่มีศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่นฟางข้าว ซังข้าวโพด รวมถึงพืชพลังงานอย่างหญ้าเนเปียร์ และมีระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ไม่ว่าจะเป็นระบบส่ง ระบบจัดจำหน่ายที่สามารถรองรับไฟฟ้าที่ผลิตได้จากชุมชน โดยแนวทางการจัดตั้งโรงไฟฟ้าดังกล่าว จะเป็นการร่วมลงทุนระหว่าง เอกชนและชุมชน ซึ่งมีเงื่อนไขที่ให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนในการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ และเปิดให้ชุมชนเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วนที่เหมาะสมในขั้นตอนของการดำเนินการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์