banner

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานลงพื้นที่ภาคใต้ ที่ จ.สุราษฎร์ธานี มอบนโยบาย “B10 นโยบายน้ำมันบนดินเพื่อเศรษฐกิจฐานราก”

วันที่  24 พ.ย.62  นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะเดินทางปฏิบัติภารกิจในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเดินหน้าส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลB10 น้ำมันบนดินเพื่อเศรษฐกิจฐานราก  ซึ่งกระทรวงพลังงานดีเดย์ประกาศเป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานสำหรับประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไปซึ่งมาตรการส่งเสริมน้ำมันดีเซลB10 เป็นหนึ่งในกลไกด้านพลังงานที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้ประชาชนให้กับชุมชนเพราะเป็นการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพจากไบโอดีเซลที่ผลิตจากปาล์มน้ำมันมาผสมในเนื้อน้ำมันดีเซลเป็นการนำจุดแข็งด้านผลผลิตทางการเกษตรของไทยมาช่วยสร้างเสถียรภาพราคาให้กับเกษตรกรทำให้ปาล์มน้ำมันไม่ติดกับปัญหาด้านราคาเหมือนที่ผ่านมา

“หากผลักดันการใช้B10สำเร็จจะทำให้การใช้ไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นราว 2.1 ล้านลิตรต่อวันหรือเพิ่มประมาณ 40% จากปัจจุบันซึ่งขณะนี้มีปริมาณการใช้ไบโอดีเซล 5.15 ล้านลิตรต่อวันก็จะเพิ่มเป็นประมาณ 7 ล้านลิตรต่อวันในปี 2563 โดยภาคพลังงานจะช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ได้ประมาณ 2 – 2.2 ล้านตันต่อปีและยังเกิดผลพลอยได้ช่วยลดมลภาวะทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)  อีกด้วย”
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว

ในการลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานครั้งนี้ได้สร้างความเชื่อมั่นและมั่นใจเรื่องเสถียรภาพของราคาปาล์มน้ำมันให้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันมากยิ่งขึ้นซึ่งปัจจุบันจากการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลB10 ได้มีส่วนช่วยให้ราคาปาล์มน้ำมันในตลาดได้ขยับขึ้นมากกว่า 4 บาท/กิโลกรัมแล้ว

ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เข้าเยี่ยมชมกระบวนการผลิตไบโอดีเซล (B100) ของบริษัทนิวไบโอดีเซล จำกัด จ.สุราษฎร์ธานีโดยโรงงานดังกล่าวมีพันธกิจที่สอดคล้องกับนโยบายด้านพลังงานเพราะมุ่งผลิตไบโอดีเซลเป็นพลังงานทดแทนลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศช่วยเพิ่มเสถียรภาพด้านราคาให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันและสร้างความเชื่อมั่นว่าจะสามารถปลูกและขายผลผลิตในราคาที่เหมาะสมคุ้มค่าต่อการลงทุนอีกทั้งยังมีส่วนช่วยลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

บริษัทฯ มีการผลิต 4 ส่วนคือส่วนผลิตไอน้ำส่วนการกลั่นน้ำมันปาล์มดิบส่วนการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลและส่วนการผลิตน้ำมันปาล์มเพื่อบริโภคซึ่งในส่วนการผลิตน้ำมันปาล์มดิบนั้นสามารถผลิตได้รวมวันละ 1,800 ตันโดยสามารถผลิตน้ำมันไบโอดีเซลได้รวมวันละ 1,000 ตันหรือ 1.15 ล้านลิตรต่อวันขณะที่การผลิตน้ำมันปาล์มเพื่อบริโภคสามารถผลิตน้ำมันปาล์มโอเลอีนได้วันละ 300 ตัน

สำหรับกระบวนการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลนั้นใช้กระบวนการแบบ Tranesterification เป็นระบบปิดแบบต่อเนื่อง 24 ชั่วโมงใช้เทคโนโลยีในการผลิตไบโอดีเซลจาก Malaysia Palm Oil Board  ประเทศมาเลเซียซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการนำน้ำมันปาล์มมาผ่านกระบวนการเพื่อเพิ่มมูลค่าโดยสามารถผลิตได้น้ำมันไบโอดีเซลเกรดตรงตามมาตรฐานของกรมธุรกิจพลังงานและมีสินค้าพลอยได้คือกลีเซอรีนซึ่งจะจัดจำหน่ายให้โรงกลั่นกลีเซอรีนเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอางต่อไปสำหรับกลุ่มลูกค้าปัจจุบันของบริษัทฯคือผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7  ซึ่งจะมีคลังน้ำมันอยู่ทั่วประเทศเพื่อกระจายสินค้าให้กับผู้ค้าน้ำมันรายย่อยในแต่ละเขตพื้นที่ซึ่งลูกค้ากลุ่มหลักอยู่ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้และใกล้เคียง

นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และคณะยังได้เดินทางทำพิธีเปิดระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียยางพาราขนาด 500 ลูกบาศก์เมตร ที่สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินท่าแซะจำกัดจ.สุราษฎร์ธานีซึ่งสหกรณ์ดังกล่าวมีผลผลิตส่วนใหญ่เกี่ยวกับยางพาราอาทิการรวบรวมผลผลิตยางพาราแผ่นดิบการแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควันการจัดจำหน่ายการแปรรูปยางแท่งเป็นต้นโดยโรงงานของสหกรณ์มีกำลังการผลิตยางแผ่นรมควันชั้น3  ประมาณ 10 ตันต่อวันยางแท่งSTR 20 ประมาณ 2 ตันต่อชั่วโมงสำหรับระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียที่ได้จากยางพาราดังกล่าวได้รับงบประมาณปี2562  ในส่วนของโครงการลดต้นทุนพลังงานในการจัดหาน้ำเพื่อการเกษตรและการอบแห้งผลผลิตทางการเกษตรภาคใต้ในการก่อสร้างบ่อแก๊สชีวภาพจากน้ำเสียยางพาราขนาด 500 ลูกบาศก์เมตรงบประมาณก่อสร้าง 1.5 ล้านบาทซึ่งจะมีส่วนช่วยประหยัดเชื้อเพลิงไม้ฟืนที่ใช้ในการผลิตได้ประมาณ 125 ตันต่อปีจากเดิมที่มีการใช้เชื้อเพลิงดังกล่าวที่ 600 ตันต่อปี