banner

ฺB10 ดีเซลพื้นฐานใหม่ ช่วยเกษตรกรไทย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม


1. หลักการ หรือที่มาของการสนับสนุนใช้ B 10

กระทรวงพลังงานมีมาตรการในการเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันไบโอดีเซล (ฺB 100) ในภาคพลังงานให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน โดยมีเป้าหมายในการสร้างสมดุลปาล์มน้ำมันทั้งระบบของประเทศ และได้กำหนดเป้าหมายการใช้ไบโอดีเซล (B 100) ให้ได้ประมาณ 7.0 ล้านลิตร /วัน  ซึ่งจะสามารถดูดซับ CPO ได้ประมาณ 2 ใน 3 ของปริมาณการผลิตทั้งหมดของประเทศในปัจจุบัน (หรือประมาณ 2.2 ล้านตัน/ปี)

กรมธุรกิจพลังงาน จึงได้ดำเนินการเพื่อสนับสนุนนโยบาย โดยได้ออกประกาศกำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 10 และประกาศกำหนดลักษณะและคุณภาพของไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมัน (B 100) และจะกำหนดให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 10 เป็นน้ำมันดีเซลฐานสำหรับรถดีเซลทั่วไป  โดยมีน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 7 เป็นน้ำมันทางเลือกสำหรับรถเก่าและรถยุโรป และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 20 เป็นน้ำมันทางเลือกสำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป

2. ปัจจุบันน้ำมันดีเซลมีกี่ประเภท ต่างกันอย่างไร / คุณภาพต่างกันหรือไม่

น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 10 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 20 โดยน้ำมันดีเซลทั้ง 3 ประเภท มีคุณภาพเหมือนกันทุกประการ แต่มีความแตกต่างกันที่สัดส่วนผสมไบโอดีเซล คือ น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดามีสัดส่วนไบโอดีเซล 6.6 – 7% น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 10 มีสัดส่วนไบโอดีเซล 9 – 10% และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 20 มีสัดส่วนไบโอดีเซล 19 – 20%

3. การใช้ B 10 จะกระทบเครื่องยนต์หรือไม่ /รถรุ่นไหน ยี่ห้อไหน ปีไหน ที่สามารถใช้ได้บ้าง

การใช้น้ำมันดีเซล B 10 กับเครื่องยนต์ที่สามารถรองรับการใช้งานจะไม่มีผลกระทบกับเครื่องยนต์ เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ให้การรับรองการใช้งานไว้เรียบร้อยแล้ว โดยผู้ที่มีความสนใจจะใช้น้ำมันดีเซล B 10 สามารถตรวจสอบรุ่นรถ ได้จากประกาศกรมธุรกิจพลังงานเรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562 หรือที่เว็บไซต์กรมธุรกิจพลังงาน คลิกที่นี่ 

4. ปัจจุบันมีรถใช้ดีเซลกี่คัน และใช้ B10 ได้กี่คัน

ณ เดือนกรกฎาคม 2562 มีรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซล ประมาณ 10.5 ล้านคัน เป็นรถที่ใช้น้ำมันดีเซล B 10 ได้ ประมาณ 5.3 ล้านคัน หรือ 50% ที่เหลือจะเป็นรถยนต์ดีเซลราคาแพง เช่น Benz Hyundai Tata BMW Honda Mazda Audi Peugeot Volvo(เล็ก) และรถเก่ามากๆ

5. รถที่เติม B10 ไม่ได้จะทำอย่างไร

รถยนต์ที่ไม่สามารถเติม น้ำมันดีเซล B 10 ได้ เช่น รถที่มีอายุการใช้งานมานานแล้ว รถยุโรป ได้แก่ Benz Hyundai Tata BMW Honda Mazda Audi Peugeot  Volvo (เล็ก) ยังสามารถเติมน้ำมันดีเซล B 7 ได้ ซึ่งยังมีจำหน่ายตามสถานีบริการน้ำมัน

6. หากผู้บริโภคไม่รู้รุ่นรถ จะหาหรือติดต่อข้อมูลได้จากที่ไหนอย่างไร มีคู่มือหรือไม่

ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบรุ่นรถได้ที่เว็บไซด์ กรมธุรกิจพลังงาน www.doeb.go.th  ศูนย์บริการหรือศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ของผู้ผลิตรถยนต์แต่ละยี่ห้อ

7. มี Call Center ให้ข้อมูลหรือไม่ หรือเบอร์ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ ศูนย์บริการ หรือ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ ของผู้ผลิตรถยนต์แต่ละยี่ห้อ เพื่อรับคำแนะนำก่อนใช้

8. หากเป็นรถรุ่นเก่าที่เติมไม่ได้ แต่เข้าใจผิดคิดว่าเติมได้จะส่งผลต่อเครื่องยนต์หรือไม่อย่างไร จะต้องติดต่อเคลมความเสียหายได้อย่างไร

ข้อแนะนำสำหรับรถรุ่นเก่าที่ต้องการเติมน้ำมันดีเซล B 10 ก่อนเติมควรติดต่อศูนย์บริการ/ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ ของผู้ผลิตรถยนต์แต่ละยี่ห้อ เพื่อรับคำแนะนำและทำการตั้งค่าเครื่องยนต์ให้เหมาะสม ก่อนเริ่มใช้งานเชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 10

9. ข้อแนะนำปรับแต่งเครื่องยนต์ที่ชิ้นส่วนอะไหล่ใดบ้างสำหรับรถเก่า

ผู้บริโภคที่ต้องการใช้เชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 10 ติดต่อศูนย์บริการ หรือศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ของผู้ผลิตรถแต่ละยี่ห้อ เพื่อรับคำแนะนำและทำการตั้งค่าเครื่องยนต์ให้เหมาะสม ก่อนเริ่มใช้งานเชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 10

10. ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการรณรงค์ให้ใช้ B10 มีอะไรบ้าง

1. สร้างสมดุลปาล์มน้ำมันทั้งระบบในประเทศ ปริมาณการใช้ (ภาคพลังงาน และเพื่อการบริโภค)
2. สร้างเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมัน (ทำให้ราคาสูงขึ้น)
3. ช่วยลดมลพิษ (ปริมาณฝุ่น PM 2.5) (เนื่องจากการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในสัดส่วนที่สูงขึ้น)

11. ในแง่ของการประหยัดนำเข้าพลังงาน ตัวเลขที่ประหยัดได้ / ตัวเลขนำเข้าดีเซลปัจจุบัน และคาดว่าเมื่อใช้ B 10 จะลดการนำเข้าได้เท่าไหร่ /เป็นมูลค่าเงินเท่าไหร่

เนื่องจากประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมันดิบมาผลิตเป็นน้ำมันสำเร็จรูป ดังนั้น นโยบายการเพิ่มสัดส่วนการผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพในสัดส่วนที่สูงขึ้น จะทำให้สามารถประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงที่มาจากการนำเข้าได้มากขึ้นตามสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น ปกติการใช้ B 7 วันละประมาณ 60 ล้านลิตร

ดังนั้น หากดีเซล B 10 เป็นดีเซลฐาน ทำให้สามารถประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3 ของปริมาณการใช้ดีเซล (หรือประมาณวันละ 1.8 ล้านลิตร)

12. ตามแผน Time Line ของกระทรวงพลังงานในการจำหน่าย B 10 วางไว้อย่างไร

– วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันให้เพิ่มปริมาณการจำหน่ายและเพิ่มจำนวนสถานีบริการน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 10
– วันที่ 1 ธันวาคม 2562 ประกาศกำหนดลักษณะและคุณภาพไบโอดีเซล (B 100) เหลือชนิดเดียว
– วันที่ 1 มกราคม 2563 ทุกคลังน้ำมันของผู้ค้าน้ำมันมีการผลิตน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 10

– วันที่ 1 มีนาคม 2563 น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 10 มีจำหน่ายในทุกสถานี

13. ผู้เกี่ยวข้องพร้อมอย่างไร ขอข้อมูลทั้งโรงกลั่น ผู้ผลิต B 100 ปั๊มน้ำมันทั่วประเทศ ปตท.นำร่องอย่างไร /ปั๊มอื่นๆ คืบหน้าอย่างไร

กรมธุรกิจพลังงาน มีการประชุมหารือร่วมกันกับผู้ที่มี่ส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ได้แก่ โรงกลั่นน้ำมัน ผู้ผลิต B 100 ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ที่จำหน่ายน้ำมันดีเซล รวมทั้งผู้ผลิตรถยนต์ ทุกฝ่ายมีความพร้อมในการสนับสนุนนโยบายและผลักดันให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 10 เป็นน้ำมันดีเซลฐานของประเทศ โดยมีระยะเวลาในการดำเนินการ (ตามข้อ 12)

14. ตรวจสอบสถานีบริการน้ำมันที่จำหน่าย น้ำมันดีเซล B 10 ได้ที่ไหน

สามารถตรวจสอบสถานีบริการน้ำมันที่จำหน่าย น้ำมันดีเซล B 10 ได้ที่ เว็บไซต์กรมธุรกิจพลังงาน ในแบนเนอร์ “B 10 น้ำมันดีเซลฐานของประเทศไทย” ทั้งนี้ ณ เดือนกันยายน 2562 มีจำนวนสถานีบริการน้ำมันดีเซล B 10 รวม 47 แห่ง

15. มาตรการจูงใจจากการลดราคาต่ำกว่า 2 บาทจะอยู่นานไปถึงเมื่อไหร่

มติ กบง. วันที่ 30 สิงหาคม 2562  เห็นชอบให้ส่วนต่างราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 10 ต่ำกว่าราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 7 ที่ 2 บาท/ลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป (ไม่ได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุด)

16. จะสร้างความมั่นใจผู้บริโภคได้อย่างไร

กรมธุรกิจพลังงานได้กำหนดมาตรฐานคุณภาพของน้ำมันดีเซล B 10 ซึ่งเป็นที่ยอมรับของผู้ผลิตรถยนต์ อีกทั้ง กรมธุรกิจพลังงานได้มีการกำกับดูแลและตรวจสอบคุณภาพน้ำมันตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการจำหน่ายที่สถานีบริการ ดังนั้น ประชาชนจึงสามารถมั่นใจในคุณภาพของน้ำมันดีเซล B 10 ได้

17. รายชื่อค่ายรถที่พร้อมเข้าร่วม

TOYOTA,  ISUZU, NISSAN, FORD, FUSO, Chevrolet,  MITSUBISHI,  Volvo Trucks, Hino, MAN, SCANIA, UD Trucks, Mercedes-Benz

18. List รุ่นรถที่สามารถใช้ได้

สามารถตรวจสอบรุ่นรถ ได้จากประกาศกรมธุรกิจพลังงานเรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562 หรือที่เว็บไซต์กรมธุรกิจพลังงาน ตามลิงก์  คลิกที่นี่

19. เชื่อมโยงถึงการสนับสนุน B 20 ว่าขณะนี้ สนับสนุนอย่างไร /ให้รถประเภทใดบ้าง

ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นมา น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 20 ราคายังคงต่ำกว่าราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 7 อยู่ที่ 3 บาท/ลิตร และต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 10 ที่ 1 บาท/ลิตร โดยกลุ่มรถที่ใช้ได้ ตามรายละเอียดแนบท้ายประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล พ.ศ. 2562