ปตท.กระอัก! กำไรทรุดหมื่นล้านบาท หลังบอร์ดไฟเขียวจ่ายค่า Shortfall 4,300 ล้านบาท อุ้มค่าไฟฟ้าตามมติกกพ. สงวนท่าทีส่งศาลปกครองชี้ขาดชอร์ตฟอล ขณะที่ปรับโครงสร้างราคาก๊าซฯ ใหม่ กระทบผลดำเนินงานช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. กว่า 6,500 ล้านบาท ส่วน TOP ราคารูด 2.36% ผวาข่าวชัตดาวน์โรงกลั่นศรีราชา
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการปตท.นัดพิเศษ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2567 ได้มีมติอนุมัติให้ปตท.ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ให้ยกอุทธรณ์ของปตท. โดยให้ปตท.ปฏิบัติตามคำสั่งจ่ายค่าปรับการส่งผ่านราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย กรณีผู้ผลิตไม่สามารถส่งมอบก๊าซฯ ได้ตามเงื่อนไขสัญญาซื้อขายก๊าซฯ หรือ Shortfall จำนวน 4,300 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้างวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 อย่างไรก็ตามปตท.จะพิจารณาแนวทางดำเนินการ หรือการใช้สิทธิตามกฎหมายที่จำเป็นและสมควรต่อไป
ทั้งนี้ ตามที่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 เรื่องมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของปตท. ประกอบด้วย 1.การปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ กระทบผลการดำเนินงาน 6,500 ล้านบาท และ 2.การส่งผ่านราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย กรณีผู้ผลิตไม่สามารถส่งมอบก๊าซฯ ได้ตามเงื่อนไขสัญญาซื้อขายก๊าซฯ (Shortfall) นั้น กระทบ 4,300 ล้านบาท
โดยส่วนของ Shortfall ซึ่งทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีคำสั่งว่า ปตท.คำนวณราคา Pool Gas ไม่ถูกต้อง และให้ปตท.นำ Shortfall ช่วงเดือนตุลาคม 2563-ธันวาคม 2565 มูลค่ารวมประมาณ 4,300 ล้านบาท มาคำนวณในราคา Pool Gas นั้น โดยปตท.เชื่อว่าได้คำนวณราคา Pool Gas ถูกต้อง และเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และประกาศกกพ.ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งถูกต้องตามสัญญาซื้อขายก๊าซฯ มาโดยตลอด ปตท.จึงได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อกกพ.
ต่อมาปรากฏว่ากกพ.ได้มีคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ของปตท. โดยให้ปตท.ปฏิบัติตามคำสั่งทันที และหากปตท.ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของกกพ. ปตท.มีสิทธิยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง หรือยื่นเรื่องต่อสำนักงานอัยการสูงสุดตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพิจารณาชี้ขาดการยุติข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐและการดำเนินคดี พ.ศ. 2561 ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ทราบคำวินิจฉัยของกกพ.
ส่วนการปรับโครงสร้างราคาก๊าซฯ ตามมาตรการข้างต้น ส่งผลให้ต้นทุนของโรงแยกก๊าซฯ เปลี่ยนแปลงจากก๊าซฯ ในอ่าวไทยเป็นต้นทุนถัวเฉลี่ยก๊าซฯ จากทุกแหล่ง ได้แก่ อ่าวไทย เมียนมา และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) Pool Gas ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินงานของธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ที่จะปรับสูงขึ้น ยกเว้นก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในประเทศ ทั้งนี้มาตรการข้างต้นเป็นมาตรการระยะสั้นจนกว่าจะมีการกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซฯ อย่างเป็นทางการโดยกกพ.แล้วเสร็จ
อย่างไรก็ตาม จากการประมาณการผลกระทบเบื้องต้นช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2567 จะทำให้ผลการดำเนินงานโดยรวมของธุรกิจก๊าซฯ ของปตท. ปรับตัวลดลงประมาณ 6,500 ล้านบาท ทั้งนี้ปตท.ได้วางแผนเพื่อหามาตรการในการลดผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น การปรับแผนการเดินเครื่องของโรงแยกก๊าซฯ (Optimization) การเสนอแนวทางการจัดหา LNG เพื่อให้บรรลุเป้าหมายกรอบราคาค่าไฟฟ้าตามนโยบายภาครัฐ รวมถึงปตท.จะหารือกับ
แหล่งข่าวจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า จ่ายค่าปรับ Shortfall จำนวน 4,300 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้างวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 อาจอยู่ในรูปแบบของส่วนลดค่าก๊าซฯ ส่วนการยื่นฟ้องศาลปกครองนั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีราคาหุ้นบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ที่ปรับตัวลดลงเมื่อวันที่ 12 ม.ค. มาปิดที่ 51.75 บาท ลดลง 2.36% ด้วยมูลค่าซื้อขายกว่า 774 ล้านบาท สาเหตุเกิดจากนักลงทุนเทขายเพื่อลดความเสี่ยงจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นศรีราชา อย่างไรก็ตามราคาที่ปรับลดลงได้สะท้อนผลกระทบจากชัตดาวน์ไปแล้ว
โดยสำนักงานต่างประเทศรายงานว่า บริษัท ไทยออยล์ ประสบปัญหาชัตดาวน์อย่างไม่คาดคิดที่หน่วยกลั่นน้ำมันดิบ (CDU) ในโรงกลั่นน้ำมันศรีราชา โดยโรงกลั่นซึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือปตท. มีแนวโน้มที่จะปิด CDU ที่ได้รับผลกระทบ โดยตั้งข้อสังเกตว่าผลกระทบควรอยู่ที่การกลั่นระดับกลางทั้งนี้โรงกลั่นศรีราชามี CDU 3 แห่ง โดยหน่วยที่ 3 เชื่อมโยงกับการผลิตน้ำมันดีเซลและน้ำมันเจ็ทมากที่สุด ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ของไทยออยล์
ทั้งนี้ โรงกลั่นศรีราชามีกำลังการผลิต 275,000 บาร์เรลต่อวัน คิดเป็น 1 ใน 4 ของกำลังการกลั่นรวมของประเทศไทยที่ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และสามารถตอบสนองความต้องการผลิตภัณฑ์น้ำมันในประเทศได้ 35% การผลิตกลั่นระดับกลางคิดเป็น 56% ของการผลิตรวมของผู้กลั่น
รายงานการปิดซ่อมบำรุงดังกล่าวของไทยออยล์ส่งผลให้เกิด “ความตื่นตระหนกในการซื้อ” จากผู้ค้ากลั่นระดับกลาง ผู้ค้ากลั่นในสิงคโปร์รายหนึ่งกล่าว โดยสเปรดล่วงหน้าของ Gasoil มีการซื้อขายสูงขึ้นที่ประมาณ 1.10 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล จากวันที่ 10 มกราคมที่ 0.75 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล
ขณะที่ส่วนต่างราคาน้ำมันเครื่องบินล่วงหน้าของสิงคโปร์ก็เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 1.95 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล ในวันที่ 11 มกราคม จาก 1.55 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล ในวันที่ 10 มกราคม ที่ผ่านมา