วีระพล จิรประดิษฐกุล

ครั้งที่แล้วได้เล่าถึงภาพรวมสถานการณ์ด้านพลังงานที่ผ่านมา และการคาดการณ์แนวโน้มราคาน้ำมันที่จะเกิดขึ้นในปี 2567 จากบริบทแวดล้อมต่างๆ บทความตอนนี้จะประมวลให้เห็นแนวทางการดำเนินงานของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและนโยบายของรัฐบาลด้านพลังงาน...

ในด้านการชำระหนี้ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง นโยบายของรัฐบาลที่ลดราคาดีเซล 2 บาท/ลิตร และลดราคาเบนซิน 91 จำนวน 2.50 บาท/ลิตร และเบนซินชนิดอื่นๆ อีก 1.00 บาท/ลิตร สิ้นสุดภายในสิ้นปี 2566 และในช่วงต้นปี 2567 รัฐบาลได้ประกาศตรึงราคาดีเซลไว้ที่ 30 บาท/ลิตรต่อไปอีก 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.) โดยใช้กองทุนน้ำมันฯ ในการอุดหนุนอย่างเดียว ซึ่งควรให้กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิตลดภาษีน้ำมันดีเซลร่วมกับกองทุนน้ำมันฯ โดยเร็ว คาดว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้นกว่าระดับปัจจุบัน กองทุนน้ำมันฯ จะติดลบมากขึ้นประมาณเดือนละ 4,000-5,000 ล้านบาท จะก่อให้เกิดปัญหาการชำระหนี้ของกองทุน เนื่องจากกองทุนได้ไปกู้ธนาคารมา 75,000 ล้านบาทแล้ว และเหลือวงเงินกู้ที่ยังไม่เบิกมาอีก 30,333 ล้านบาท ได้ทยอยจ่ายเงินต้นบางส่วนในช่วงปลายปี 2566 (เดือนพฤศจิกายน) และหากกองทุนน้ำมันฯ ยังขาดสภาพคล่องทางการเงินเหมือนปัจจุบันคงไม่มีเงินไปชำระหนี้ ต้องผิดนัดชำระหนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ควรจัดทำ Scenario นำเสนอรัฐบาลเพื่อให้กองทุนน้ำมันฯ สามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ในปี 2567 จะมีปัจจัยลบต่างๆ ที่จะมากระทบต่อราคาน้ำมันในประเทศ และต่อฐานะกองทุนน้ำมันฯ อาทิ

ราคาน้ำมันปาล์มตกต่ำ ในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย.ของทุกปีจะมีปัญหาเกี่ยวกับราคาน้ำมันปาล์มตกต่ำ เนื่องจากมีผลผลิตปาล์มออกมามาก จะมีการเรียกร้องให้กระทรวงพลังงานเพิ่มการใช้น้ำมันปาล์มผสมกับน้ำมันดีเซลมากขึ้น เพื่อดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์มส่วนเกิน ซึ่งหากมีการผสมน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ผสมอยู่ที่ร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 10 จะทำให้ต้นทุนของราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลสูงขึ้น (เนื่องจากราคาน้ำมันดีเซลต้นทุน 23 บาท/ลิตร และหากผสมน้ำมันปาล์ม B100 ราคา 36 บาท/ลิตร เพิ่มมากขึ้น)

การส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ การตรึงราคาน้ำมันทั้งดีเซลและเบนซินในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้การส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ กล่าวคือ น้ำมันดีเซลเดิมมี 3 ชนิด (ดีเซล บี 7, บี 10 และบี 20) เหลือชนิดเดียวคือ บี 7 ส่วนน้ำมันเบนซินนั้นมีโครงสร้างที่ไม่ส่งเสริมให้ใช้น้ำมันเบนซิน E20 ซึ่งกำหนดไว้ให้เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐาน รวมทั้งการลดราคาน้ำมันเบนซิน 91 ลง 2.50 บาท/ลิตร ทำให้การใช้เบนซิน 91 เพิ่มมากขึ้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับนโยบายที่จะยกเลิกน้ำมันเบนซิน 91

กลไกกำกับดูแลราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศยังมีปัญหา อันเนื่องมาจากค่าการตลาดที่เหมาะสมที่ภาครัฐกำหนดไว้ น้ำมันเบนซินที่ 2.00 บาท/ลิตร และดีเซล 2.00 บาท/ลิตรนั้น ยังไม่เป็นที่ยอมรับ มีความเข้าใจไม่ตรงกันระหว่างภาครัฐกับผู้ค้าน้ำมันเป็นเวลาเกือบ 2 ปี ทำให้การปรับราคาขายปลีกแต่ละครั้งยังมีปัญหาอยู่ ค่าการตลาดของเบนซินยังสูงอยู่ที่ 3-4 บาท/ลิตร จะต้องแก้ไขวิธีการและหลักเกณท์การกำหนดราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่นที่ถูกต้องและเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย เพื่อให้สามารถกำกับค่าการตลาดให้อยู่ในระดับ 2 บาท/ลิตรได้

อนึ่ง การตรึงราคาน้ำมันไว้ในระยะยาวอาจไม่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 มาตราที่ 5 ที่กำหนดวัตถุประสงค์ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไว้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งกำหนดให้กองทุนต้องมีวินัยการเงิน โดยมาตราที่ 26 กำหนดให้กองทุนมีเงินเพียงพอเพื่อใช้ในการบริหารจัดการกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อรวมกับเงินกู้ไม่เกิน 2 หมื่นล้านแล้ว ต้องมีเงินไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

ปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัดดังที่กล่าวมาแล้ว เป็นความท้าทายผู้บริหารกระทรวงพลังงาน และ สกนช. ที่จะบริหารจัดการราคาน้ำมันในปีนี้ให้ผ่านพ้นไปและเป็นที่พอใจของทุกภาคส่วนได้หรือไม่อย่างไร.