นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงานและคณะ เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 42 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง (42nd SOME and Associated Meetings) ณ กรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ระหว่างวันที่ 24-28 มิถุนายน 2567 ในที่ประชุม ประเทศสมาชิกอาเซียนได้รายงานความก้าวหน้าถึงความร่วมมือในการดำเนินงานด้านพลังงานใน 7 สาขาที่สำคัญ ภายใต้แผนปฏิบัติการความร่วมมืออาเซียนด้านพลังงาน (ASEAN Plan of Action for Energy Cooperation: APAEC) ได้แก่ ด้านไฟฟ้า ปิโตรเลียม ถ่านหินสะอาด ประสิทธิภาพและอนุรักษ์พลังงาน พลังงานหมุนเวียน นโยบายและแผนพลังงาน และพลังงานนิวเคลียร์เพื่อประชาชน
ที่ประชุมได้หารือถึงแนวโน้มความต้องการพลังงานของภูมิภาคอาเซียน โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3 เท่าในปี พ.ศ. 2593 ซึ่งมาจากการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมและการขนส่ง ในขณะที่อุปทานจากการผลิตพลังงาน ในสถานการณ์ปกติคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า ในปี พ.ศ. 2593 แบ่งเป็นน้ำมัน ร้อยละ 33 ถ่านหิน ร้อยละ 28 ก๊าซ ร้อยละ 20 และชีวมวล ร้อยละ 14 โดยในโอกาสนี้ ไทยได้รายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานในฐานะประธานสาขาประสิทธิภาพและอนุรักษ์พลังงานซึ่งรวมถึงสถานะการลดความเข้มข้นทางพลังงาน (Energy Intensity: EI) ตามเป้าหมายของอาเซียน โดยในปี 2565 อาเซียนสามารถลด EI ได้ร้อยละ 27 และคาดการณ์ว่าจะสามารถลดได้ถึงร้อยละ 30.9 ในปี พ.ศ. 2568
นอกจากนี้ ไทยยังได้เข้าร่วมการประชุมกับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน อาทิ อาเซียนบวกสามและกลุ่มประเทศสุดยอดเอเชียตะวันออก ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีศักยภาพความร่วมมือทางพลังงาน อาทิ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย อินเดีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา รวมถึงการประชุมร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศที่มีศักยภาพในการสนับสนุนโครงการพัฒนาพลังงาน อาทิ ERIA EU และ ADB ด้วย
ปัจจุบัน ประเทศสมาชิกอาเซียนอยู่ระหว่างกระบวนการเตรียมการเพื่อร่วมลงนามในพิธีสารแก้ไขและ ขยายระยะเวลาบันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการเชื่อมโยงโครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติอาเซียน รวมทั้งการร่างข้อตกลงการเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน และข้อตกลงว่าด้วยความมั่นคงทางปิโตรเลียมของอาเซียนฉบับใหม่ด้วย ซึ่งกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้เข้าร่วมการจัดทำร่างข้อตกลงดังกล่าวตามความเหมาะสมเพื่อส่งเสริมให้การดำเนินความร่วมมือด้านไฟฟ้าและปิโตรเลียมในอาเซียนเป็นไปด้วยความต่อเนื่องและเหมาะสมกับบริบทของไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนในปัจจุบัน
การเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 42 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้องถือเป็นโอกาสอันดีในการมีส่วนร่วม แสวงหาและผลักดันความร่วมมือด้านพลังงานโดยสอดคล้องกับประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ ทั้งภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน และความร่วมมือทวิภาคีกับประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาพลังงานสะอาดควบคู่กับการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทยต่อไป