“พลังงาน” หนุนชาวประมง จ.สงขลา ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เลี้ยงปูและกุ้งทะเล เพิ่มรายได้และช่วยประหยัดค่าไฟได้ถึง 50% ต่อปี
กระทรวงพลังงาน เดินหน้าสนับสนุนเกษตรกรชาวประมง และกลุ่มอนุรักษ์สัตว์น้ำ จ.สงขลา ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ผลิตออกซิเจนเพื่ออนุบาลสัตว์น้ำ ลดปัญหาไฟฟ้าตก-ดับ มีไฟฟ้าใช้ตลอด 24 ชั่วโมง และเพิ่มอัตราการรอดของลูกปูได้มากขึ้น
(วันที่ 13 พ.ย. 2567) นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน และนายจักรพันธ์ กิ่งแก้ว พลังงานจังหวัดสงขลา ได้พาคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับธนาคารปู จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างชุมชน หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานเอกชน โดยครั้งนี้ได้เข้าเยี่ยมชม กลุ่มอนุรักษ์เพาะฟักลูกปูและสัตว์น้ำ กลุ่มพังสาย ต.กระดังงา อ.สทิงพระ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงพลังงาน
ที่ผ่านมา ปูม้าที่มีไข่นอกกระดองที่ถูกจับโดยชาวประมงจะถูกขายเป็นปูเนื้อ ส่วนไข่นอกกระดองจะถูกตัดทิ้งไป ทำให้โอกาสในการขยายพันธุ์ของปูม้าลดลง โดยแม่ปู 1 ตัว สามารถมีไข่ได้ตั้งแต่ 5 แสน ถึง 1 ล้านฟอง และมีโอกาสรอดชีวิตไปเป็นตัวเต็มวัยได้ร้อยละ 10 ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าและพัฒนาความเป็นอยู่ให้กับชุมชน ชาวประมงในพื้นที่ได้ตระหนักถึงปัญหานี้ จึงได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์ชายฝั่ง และริเริ่มจัดทำโครงการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขึ้น เพื่อวางกลไกการอนุรักษ์สัตว์น้ำโดยรับจำนำปูที่มีไข่นอกกระดอง มาอนุบาลในบ่ออนุบาลและเพาะฟักออกเป็นลูกปู สามารถนำไปปล่อยให้เจริญเติบโตตามธรรมชาติได้ เพื่อให้การประมงในพื้นที่เป็นไปอย่างยั่งยืน ซึ่งในการอนุบาลปูม้า จะต้องสูบน้ำทะเลขึ้นมาใช้ในบ่ออนุบาล และต้องเติมออกซิเจนในบ่อตลอดเวลา ซึ่งต้องใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงานหลักในการผลิตออกซิเจน ที่ผ่านมาพบปัญหากระแสไฟฟ้าตก-ดับบ่อย ส่งผลให้ไม่สามารถเติมออกซิเจนในบ่ออนุบาลได้ตลอดเวลา และทำให้ลูกปูมีอัตราการรอดชีวิตน้อย
กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานพลังงานจังหวัดสงขลา ได้เห็นถึงสภาพปัญหาดังกล่าว จึงได้สนับสนุนเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อใช้ผลิตออกซิเจนในการอนุบาลสัตว์น้ำ ขนาดไม่ต่ำกว่า 2.4 Kw (กิโลวัตต์) และระบบกักเก็บพลังงาน ขนาด 5 KWh (กิโลวัตต์-ชั่วโมง) ซึ่งสามารถรองรับการใช้ไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง ช่วยแก้ปัญหากระแสไฟฟ้าตกหรือดับ ทำให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง และเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของลูกปูได้เป็นอย่างดี ปัจจุบัน กระทรวงพลังงานได้สนับสนุนการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับกลุ่มชาวประมงและกลุ่มอนุรักษ์สัตว์น้ำในจังหวัดสงขลารวมจำนวน 9 แห่ง ได้แก่
1. ศูนย์เพาะฟักลูกปูกลุ่มปากบางเทพา ต.ปากบาง อ.เทพา
2. กลุ่มธนาคารปูบ้านพังสาย ต.กระดังงา อ.สทิงพระ
3. ศูนย์เพาะฟักลูกปูม้าบ้านพังเค็ม ต.วัดสน อ.ระโนด
4. กลุ่มประมงอนุรักษ์กุ้งก้ามกรามและพัฒนาชายฝั่ง ม.6 ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์
5. กลุ่มเขตฟาร์มทะเลและอนุรักษ์ทรัพยากรประมง ม.8 ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์
6. กลุ่มธนาคารปูบ้านหัวคุ้ง ม.5 ต.ท่าบอน อ.ระโนด
7. กลุ่มธนาคารปูม้าชุมชนบ้านท่าเข็น ม.1 ต.คลองแดน อ.ระโนด
8. กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรประมงบ้านม่วงพุ่ม ม.8 ต.ม่วงงาม อ.สิงหนคร
9. กลุ่มธนาคารปูม้าบ้านชุมพล ต.ชุมพล อ.สทิงพระ
โดยนายหมาน จันทร์ลิหมัด หัวหน้ากลุ่มอนุรักษ์เพาะฟักลูกปูและสัตว์น้ำ กลุ่มพังสาย กล่าวว่า ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีความสำคัญอย่างยิ่งในการลดค่าใช้จ่าย จากปกติเสียค่าไฟฟ้า เดือนละประมาณ 1,800 - 1,900 บาท เหลือเพียงเดือนละประมาณ 800 - 900 บาท ทำให้ต้นทุนในการเพาะฟักลูกปูลดน้อยลง อีกทั้งยังสามารถลดปัญหาไฟตกไฟดับ นอกจากนั้น ระบบผลิตไฟฟ้าที่ติดตั้งยังสามารถใช้ประโยชน์สำหรับการชาร์จไฟรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า และเป็นศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักสัตว์น้ำสำคัญของจังหวัดสงขลาอีกด้วย
"กลุ่มพังสายเป็นต้นแบบที่ดีของการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ที่มุ่งเน้นเรื่องการบริหารจัดการอนุรักษ์และอนุบาลสัตวน้ำในท้องถิ่น อย่างปูม้า และขยายผลไปถึงสัตว์ทะเลต่าง ๆ อย่าง กุ้ง หมึก หอย โดยได้รับความร่วมมือและการบูรณาการจากหลายภาคส่วน ทั้งท้องถิ่นที่มีความตั้งใจขับเคลื่อนกลุ่มให้มีความยั่งยืน สร้างความเป็นอยู่ของชุมชนให้ดียิ่งขึ้น ภาคเอกชนที่สนับสนุนโครงสร้าง อุปกรณ์ เครื่องมือจำเป็นต่างๆ ภาคการศึกษา ช่วยสนับสนุนองค์ความรู้ให้ชุมชน และเข้ามาสนับสนุนการบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่างๆ และภาครัฐที่ช่วยผลักดัน สนับสนุนให้กลุ่มเข้าถึงงบประมาณและเครื่องมือต่างๆ ในส่วนของกระทรวงพลังงานได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนช่วยในการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของกลุ่มในการดำเนินการต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน รวมถึงเศรษฐกิจของจังหวัดสงขลาได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน" นายวีรพัฒน์ กล่าว